น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข มีนโยบายย้ำให้จังหวัดพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ออกบริการประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การดูแลสุขภาพในช่วงน้ำท่วม
รวมทั้งให้เข้มข้นการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วม 5 โรคสำคัญที่พบบ่อยในภาวะอุทกภัย ได้แก่ 1.โรคอุจจาระร่วง 2.โรคไข้ฉี่หนู 3.ไข้หวัดใหญ่ 4. ปอดบวม 5.ตาแดง และโรคอื่น ๆ เช่น แผลติดเชื้อรวมทั้งโรคหัด ซึ่งมักเกิดการระบาดได้ง่ายเมื่อมีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ตามจุดอพยพต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าว
สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมที่กำลังจะมาถึง เช่น จังหวัดในภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นเส้นทางผ่านของลำน้ำชีและลำน้ำมูล ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ควรติดตามข้อมูลการเตือนภัยของหน่วยราชการในท้องถิ่น และขอให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ล่วงหน้า โดยสำรวจบ้านเรือน เก็บอุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งของเครื่องใช้ไว้ในที่สูง โดยเฉพาะปลั๊กไฟเพราะอาจเกิดไฟดูดไฟช็อตได้
สิ่งสำคัญที่ควรเตรียมไว้ให้พร้อมคือน้ำสะอาด เช่น นำน้ำมาบรรจุในถุงพลาสติกใหญ่ๆ มัดปากถุงให้แน่นแล้วใส่ถังหรือโอ่งไว้อีกชั้นหนึ่ง ป้องกันน้ำท่วมเข้าไปปะปนกับน้ำสะอาดที่มีอยู่ เตรียมยาสามัญประจำบ้าน ขี้ผึ้งทาแผล ขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า ถุงดำ รองเท้าบู๊ท เสื้อผ้า อาหารแห้ง ไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ และของใช้ที่จำเป็นใส่ถุงพลาสติกผูกให้แน่น แล้วแขวนเก็บไว้ในที่สูง
นอกจากนี้ หากมีผู้สูงอายุ เด็ก หญิงมีครรภ์ให้ย้ายไปอยู่ที่จุดอพยพ เพื่อลดความเสี่ยงเสียชีวิตหากเกิดน้ำท่วมขึ้น