นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มระดับในแม่น้ำเจ้าพระยายังคงสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกสะสมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปริมาณมากกว่าค่าเกณฑ์เฉลี่ยปกติ ส่งผลให้ยังคงมีน้ำไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดวันนี้ (21 ต.ค.53) ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,580 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำผ่านที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 2,878 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในขณะเดียวกันปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักเกินความจุแล้ว คือ 1,116 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 121% ของความจุอ่าง ส่วนเขื่อนกระเสียวเกินความจุแล้วเช่นเดียวกัน คือ 277 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 115% ของความจุอ่าง
ดังนั้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าทั้งสองอ่างเก็บน้ำดังกล่าวจำเป็นต้องระบายออกมาทั้งหมด เพราะไม่สามารถเก็บกักได้อีก เนื่องจากต้องคำนึงถึงความมั่นคงของตัวเขื่อนเป็นหลัก ทำให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ได้ปิดประตูระบายน้ำในส่วนของเขื่อนแควน้อยแล้วเพื่อบรรเทาปริมาณน้ำสมทบ
นายธีระ กล่าวว่า ปริมาณน้ำในปี 53 ไม่ได้มากไปกว่าปีที่ผ่านมา แต่ระดับน้ำสูงขึ้นเนื่องจากการป้องกันเขตเมืองเป็นไปอย่างเข้มแข็ง การสร้างคันกั้นต่างๆ ทำให้น้ำมีการยกตัวขึ้น ประกอบกับ ฝนตกแผ่กระจายเป็นจำนวนมาก ทำให้สถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศ และสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในปีนี้ค่อนข้างวิกฤตในช่วงน้ำทะเลหนุน
แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะช่วยเหลือดูแลพื้นที่เกษตรกรรมควบคู่ไปกับพื้นที่ชุมชน พร้อมทั้งได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยในทันที และเตรียมดำเนินการเข้าช่วยเหลือ สำรวจพื้นที่หลังน้ำลดตามแผนด้วย
ด้านนายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันมีสาเหตุมาจากปริมาณฝนที่ตกลงมามากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน การขึ้นของน้ำจึงเร็วมาก ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำโดยภาพรวมจะน้อยกว่าปี 45 ที่มีปริมาณน้ำ 3,997 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปี 49 ปริมาณน้ำ 5,960 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็ตาม
สำหรับสถานการณ์ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการประเมินว่าที่จังหวัดนครสวรรค์หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มบริเวณแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2,580 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 2,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงเย็นของวันที่ 23 ต.ค.53 และจะมีปริมาณน้ำผ่านที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท สูงสุดในวันที่ 24 ต.ค.53 ประมาณ 3,360 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะมีปริมาณน้ำสูงสุดที่บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 27 ต.ค.53 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่น้ำทะเลจะขึ้นสูงสุด
ทั้งนี้ ได้ทำหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ขอให้เสริมคันกั้นน้ำไม่น้อยกว่า 2 เมตร เพื่อเตรียมรับมือในช่วงเวลาอีก 4-5 วัน ที่เหลือที่น้ำส่วนดังกล่าวกำลังจะเข้าสู่พื้นที่
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมรับสถานการณ์น้ำสูงสุดในวันที่ 27 ต.ค.53 โดยเสริมคันกันน้ำสูงขึ้นจากเดิมอีก 1 เมตร เพื่อป้องกันสถานการณ์ฝนตกเพิ่ม อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะไม่ท่วมเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในแน่นอน และจะไม่มีการผันน้ำเข้าพื้นที่ชั้นในเนื่องจากควบคุมลำบาก โดยหากมีปริมาณน้ำสูงสุดถึง 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับปริมาณน้ำที่อาจล้นขึ้นประมาณ 20-30 เซ็นติเมตร คาดว่ายังคงรับมือได้เพราะคันกันน้ำส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ ได้สร้างไว้ที่ 3 เมตร ซึ่งเพียงพอต่อการป้องกัน