นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากนั้นได้เดินทางไปอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน ตอนสถานีสูบน้ำคลองขุดวัดช่องลม เขตยานนาวา ซึ่งรับน้ำจากบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม เป็นศูนย์กลางสถานีเครือข่ายในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ในการป้องกันน้ำท่วม เรียกว่า SCADA มีสถานีเครือข่ายย่อยอีก 76 แห่ง ตั้งอยู่ตามสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี โดยส่งข้อมูลระดับน้ำ ปริมาณน้ำฝน สถานภาพการเปิดและปิดประตูระบายน้ำ การเดินเครื่องสูบน้ำมายังสถานีแม่ข่ายที่สำนักการระบายน้ำ โดยใช้ระบบคลื่นสัญญาณทางวิทยุสื่อสาร เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์
นอกจากระบบ SCADA แล้ว ยังมีระบบตรวจวัดน้ำในคลองสายหลัก 39 จุด ระบบเชื่อมต่อวัดปริมาณฝนจากสำนักงานเขต 48 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนสายหลัก 71 จุด ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) 17 จุด รวมถึงการติดตามสภาพฝนจากเรดาร์กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตภาษีเจริญ โดยรายงานให้ฝ่ายปฏิบัติการภาคสนามและผู้บังคับบัญชา เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
ส่วนอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน เป็นโครงการที่ใช้บึงมักกะสันในการเก็บกักน้ำชั่วคราว เพื่อช่วยลดระดับน้ำในคลองแสนแสบและคลองสามเสน มีอาคารระบายน้ำเข้าอุโมงค์ 4 แห่ง ได้แก่ อาคารระบายน้ำบึงมักกะสัน อาคารรับน้ำแสนเลิศ อาคารรับน้ำไผ่พิทักษ์ และอาคารรับน้ำเชื้อพระราม โดยการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ใต้ดินที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 4.60 เมตร ความยาว 6.2 กิโลเมตร และลึกจากผิวดินประมาณ 20—30 เมตร มีประสิทธิภาพในการสูบน้ำ 45 ลบ.ม./วินาที เริ่มจากบึงมักกะสันลอดใต้แนวทางรถไฟสายมักกะสัน ถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท ถนนพระราม 4 ไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานีสูบน้ำคลองขุดวัดช่องลม อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันมีความพร้อมในการเดินระบบ 100% ซึ่งจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท และพื้นที่เขตพญาไท ปทุมวัน ราชเทวี ดินแดง ห้วยขวาง บางรัก สาทร วัฒนา คลองเตย และบริเวณใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี
นายสัญญา ชีนิมิต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ สรุปสถานการณ์น้ำวันนี้ (27 ต.ค. 53) ว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ปริมาณฝนในกรุงเทพมหานคร เดือน ต.ค.53 จะมีปริมาณมากกว่าค่าปกติ (ค่าปกติ 241 มม.) และเดือน พ.ย.53 จะมีปริมาณมากกว่าค่าปกติ (ค่าปกติ 32.5 มม.)
ส่วนน้ำเหนือกรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อออกทะเลผ่านกรุงเทพมหานคร ปริมาณน้ำที่ระบาย ดังนี้ น้ำทะเลหนุนสูงวันนี้ (27 ต.ค. 53) เวลา 10.00น. +1.15 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เวลา 19.10น. +1.03 ม.รทก. และ 28 ต.ค. 53 เวลา 11.40น. +1.12 ม.รทก. เวลา 19.38 น. +1.04 ม.รทก.
ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุด ที่ปากคลองตลาด 26 ต.ค. 53 เวลา 09.00 น. ระดับ +2.10 ม.รทก. เวลา 18.45 น. ระดับ +1.78 ม.รทก. และ 27 ต.ค. 53 เวลา09.15น. +2.06 ม.รทก.
คาดการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาโดยกรมอุทกศาสตร์และกรมชลประทาน ดังนี้ 27 ต.ค. 53 ระดับ +2.17ม.รทก. และ 28 ต.ค. 53 ระดับ +2.15 ม.รทก.