นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากนั้นได้เดินทางไปอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน ตอนสถานีสูบน้ำคลองขุดวัดช่องลม เขตยานนาวา ซึ่งรับน้ำจากบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม เป็นศูนย์กลางสถานีเครือข่ายในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ในการป้องกันน้ำท่วม เรียกว่า SCADA มีสถานีเครือข่ายย่อยอีก 76 แห่ง ตั้งอยู่ตามสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี โดยส่งข้อมูลระดับน้ำ ปริมาณน้ำฝน สถานภาพการเปิดและปิดประตูระบายน้ำ การเดินเครื่องสูบน้ำมายังสถานีแม่ข่ายที่สำนักการระบายน้ำ โดยใช้ระบบคลื่นสัญญาณทางวิทยุสื่อสาร เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์
นอกจากระบบ SCADA แล้ว ยังมีระบบตรวจวัดน้ำในคลองสายหลัก 39 จุด ระบบเชื่อมต่อวัดปริมาณฝนจากสำนักงานเขต 48 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนสายหลัก 71 จุด ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) 17 จุด รวมถึงการติดตามสภาพฝนจากเรดาร์กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตภาษีเจริญ โดยรายงานให้ฝ่ายปฏิบัติการภาคสนามและผู้บังคับบัญชา เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
ส่วนอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน เป็นโครงการที่ใช้บึงมักกะสันในการเก็บกักน้ำชั่วคราว เพื่อช่วยลดระดับน้ำในคลองแสนแสบและคลองสามเสน มีอาคารระบายน้ำเข้าอุโมงค์ 4 แห่ง ได้แก่ อาคารระบายน้ำบึงมักกะสัน อาคารรับน้ำแสนเลิศ อาคารรับน้ำไผ่พิทักษ์ และอาคารรับน้ำเชื้อพระราม โดยการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ใต้ดินที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 4.60 เมตร ความยาว 6.2 กิโลเมตร และลึกจากผิวดินประมาณ 20—30 เมตร มีประสิทธิภาพในการสูบน้ำ 45 ลบ.ม./วินาที เริ่มจากบึงมักกะสันลอดใต้แนวทางรถไฟสายมักกะสัน ถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท ถนนพระราม 4 ไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานีสูบน้ำคลองขุดวัดช่องลม อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันมีความพร้อมในการเดินระบบ 100% ซึ่งจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท และพื้นที่เขตพญาไท ปทุมวัน ราชเทวี ดินแดง ห้วยขวาง บางรัก สาทร วัฒนา คลองเตย และบริเวณใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี
นายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่วิกฤตของเดือนนี้ว่า คงจะดูอีก 1-2 วัน แต่ว่าขณะนี้ถ้าระดับน้ำอยู่ระดับนี้ก็จะไม่มีปัญหา ระบบของกทม.ที่ใช้อุโมงค์ระบายน้ำยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ได้ฝากไว้ว่า ยังมีชุมชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำที่จะได้รับผลกระทบแน่นอนที่มีประมาณ 1,000 กว่าครัวเรือน ต้องมีการช่วยเหลือและเยียวยาต่อไป
และแม้พ้นช่วงเดือนนี้ไปช่วงต้นเดือนหน้าก็ยังเป็นสถานการณ์ที่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ คงมีพื้นที่ทางตะวันออก ซึ่งอยู่ข้างนอกตรงนั้นจะต้องมีการติดตามเพราะว่าเมื่อประมาณ 4 ปีก่อนน้ำจะท่วมอยู่ และมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตร แต่อันนี้จะไปเชื่อมกับการระบายน้ำลงมาจากทางเหนือที่จะอ้อมมาทางตะวันออก ซึ่งมีตรงนี้อีกจุดหนึ่งที่ได้ขอให้ช่วยติดตามเป็นพิเศษ
ด้านนายสัญญา ชีนิมิต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ สรุปสถานการณ์น้ำวันนี้ (27 ต.ค. 53) ว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ปริมาณฝนในกรุงเทพมหานคร เดือน ต.ค.53 จะมีปริมาณมากกว่าค่าปกติ (ค่าปกติ 241 มม.) และเดือน พ.ย.53 จะมีปริมาณมากกว่าค่าปกติ (ค่าปกติ 32.5 มม.)
ส่วนน้ำเหนือกรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อออกทะเลผ่านกรุงเทพมหานคร ปริมาณน้ำที่ระบาย ดังนี้ น้ำทะเลหนุนสูงวันนี้ (27 ต.ค. 53) เวลา 10.00น. +1.15 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เวลา 19.10น. +1.03 ม.รทก. และ 28 ต.ค. 53 เวลา 11.40น. +1.12 ม.รทก. เวลา 19.38 น. +1.04 ม.รทก.
ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุด ที่ปากคลองตลาด 26 ต.ค. 53 เวลา 09.00 น. ระดับ +2.10 ม.รทก. เวลา 18.45 น. ระดับ +1.78 ม.รทก. และ 27 ต.ค. 53 เวลา09.15น. +2.06 ม.รทก.
คาดการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาโดยกรมอุทกศาสตร์และกรมชลประทาน ดังนี้ 27 ต.ค. 53 ระดับ +2.17ม.รทก. และ 28 ต.ค. 53 ระดับ +2.15 ม.รทก.