ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออก บริเวณประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ และประตูระบายน้ำคลองสิบสาม ซึ่งสถานการณ์น้ำขณะนี้ทั้งด้านนอกและด้านในประตูระบายน้ำอยู่ในระดับปกติดี ในส่วนของพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 30 หลังคาเรือนกรุงเทพมหานครได้ให้การช่วยเหลือแล้ว
ด้านการเยียวยาทางกายภาพได้ประสานกับโรงเรียนอาชีวะในพื้นที่เพื่อเข้าซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ส่วนโรงเรียน ที่อยู่ในพื้นที่มีทั้งหมด 37 โรงเรียน จากการสำรวจพบว่ามี 4 โรงเรียนที่อาจได้รับผลกระทบหากปริมาณน้ำมากกว่านี้ ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมตลอดเวลา และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป
สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครนอกคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีพื้นที่ประมาณ 400 ตร.กม. ครอบคลุมเขตหนองจอก คลองสามวา มีนบุรี และลาดกระบัง ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว มีสาเหตุหลักมาจากน้ำเหนือหลาก น้ำทะเลหนุน และฝนตกหนักในพื้นที่
ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมชลประทาน เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอกไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสร้างทำนบกั้นน้ำตามแนวคลองแยกคลองนครเนื่องเขต จำนวน 6 แห่ง สร้างทำนบกั้นน้ำตามแนวคลองแยกคลองหลวงแพ่งจำนวน 5 แห่ง พร้อมทำคันดินกั้นน้ำ สำหรับประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ ตอนถนนประชาร่วมใจ จะใช้การปิดเปิดประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำ โดยระดับน้ำในคลองควบคุมไว้ที่ระดับ +0.50 ม.รทก. และระดับน้ำที่วิกฤต +0.90 ม.รทก. ส่วนระดับน้ำด้านนอกควบคุมที่ +1.20 ม.รทก.
นอกจากนี้ ยังได้ขุดลอกคลองระบายน้ำสายหลัก ตามแนวเหนือ-ใต้ ระหว่างคลองแสนแสบกับคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองตามแนวตะวันออก และตะวันตก ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 นี้ยังได้จัดทำบันทึกข้อตกความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับกองทัพบก ในการดำเนินงานโครงการขุดลอกคูคลองในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 234 แห่ง เพื่อเปิดทางให้น้ำได้ไหลสะดวกรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น