ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เผยคดีรถ เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,687 ล้านบาท เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้ว โดย กทม.ว่าจ้างทนายความและที่ปรึกษาด้านกฎหมายระดับโลกต่อสู้คดี หวังฟ้องสัญญาเป็นโฆษะ คาดใช้เวลา 2 ปีสิ้นสุดคดีได้
"เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา คดีดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอย่างเป็นทางการแล้วที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยฝ่ายไทยมีแพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาข้อตกลงซื้อขายรถเรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ติดตามการแถลงเปิดคดีที่กรุงเจนีวา โดยมีเป้าหมายคือการยกเลิกสัญญาดังกล่าว" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ไม่หนักใจกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก กทม.ได้ว่าจ้างทนายความชาวสวิตเซอร์แลนด์ และที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายระดับโลกให้ต่อสู้คดีรถดับเพลิงในชั้นอนุญาโตตุลาการ โดยทนายความฝ่ายไทยเป็นผู้มีฝีมือเคยทำคดีใหญ่ระดับโลกมาแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อ ในส่วนของทนายความของคู่กรณี คือบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย ใช้ทีมทนายความของบริษัท เจเนอรัล ไดนามิกส์ (สหรัฐอเมริกา) บริษัทแม่ของบริษัท สไตเออร์ฯ ซึ่งเป็นทีมทนายจากชิคาโก สหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ในคดีระดับโลกไม่แพ้กับฝ่ายไทย จึงเรียกได้ว่าคดีรถดับเพลิงนี้เป็นการพบกันของทนายความชั้นนำของโลก ในส่วนของการกำหนดข้อพิพาทหรือคำร้องเบื้องต้นรวมถึงแนวทางการต่อสู้คดีที่ปรึกษาทางกฎหมายได้ข้อสรุปที่จะอิงตามข้อบ่งชี้และสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ที่ให้ฟ้องสัญญาเป็นโมฆะ โดยคาดว่าการพิจารณาจะสิ้นสุดภายใน 2 ปี
สำหรับขั้นตอนการต่อสู้คดีตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการจะต้องมีการยื่นคำร้องเบื้องต้นต่อกรรมการอนุญาโตตุลาการ จากนั้นจัดทำข้อเสนอทีโออาร์ระหว่างคู่พิพาทว่าการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการจะเป็นอย่างไร ใช้ภาษาใด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ขั้นตอนดังกล่าวนี้จะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง จากนั้นจะต้องเตรียมคำร้องอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน นำเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการจะใช้เวลาพิจารณา จากนั้นเข้าสู่กระบวนการสืบพยานใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน เมื่อเสร็จสิ้นคณะอนุญาโตตุลาการจะได้พิจารณา ส่วนเวลาก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ ต่อจากนั้นศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ(International Chamber of Commerce-ICC) จะพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของผู้แพ้คดีมีสิทธิ์ร้องอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดของศาลสวิตเซอร์แลนด์ แล้วเริ่มกระบวนการใหม่ได้