ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (2 พ.ย.53) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ณ จุดสำคัญๆ ดังนี้ จังหวัดนครสวรรค์ 2,538 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลดลงจากวานนี้ 52 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) เขื่อนเจ้าพระยา 3,411 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลดลงจากวานนี้ 124 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) เขื่อนพระรามหก 456 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลดลงจากวานนี้ 78 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) และที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,316 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลดลงจากวานนี้ 24 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) แนวโน้มปริมาณน้ำเหนือบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง กรมชลประทาน ได้สูบและระบายน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก จำนวน 0.58 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สูบและระบายลงแม่น้ำบางปะกง จำนวน 4.38 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สูบและระบายลงอ่าวไทยผ่านสถานีสูบน้ำคลองชายทะเล 11.28 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ 0.99 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมสูบและระบายลงอ่าวไทย จำนวน 12.27 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้ใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ในการบริหารจัดการน้ำเหนือ โดยอาศัยจังหวะในช่วงที่น้ำทะเลลง ผลักดันน้ำเหนือให้ไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ในอัตราวันละ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนผลการตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุด วานนี้ (1 พ.ย.) มีดังนี้ สถานี C.4 สะพานพุทธฯ 1.83 ม.รทก. ต่ำกว่าตลิ่ง 0.67 ม. (ตลิ่ง 2.50 ม.รทก.) เวลา 14.00 น., สถานี C.12 กรมชลประทาน สามเสน วัดได้ 2.05 ม.รทก. ต่ำกว่าตลิ่ง 0.95 ม. (ตลิ่ง 3.00 ม.รทก.) เวลา 16.00 น. และสถานี C.22A ปากเกร็ด วัดได้ 2.42 ม.รทก. ต่ำกว่าตลิ่ง 0.02 ม.(ตลิ่ง 2.46 ม.รทก.) เวลา 16.30 น.
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปริมาณน้ำเหนือสมทบกับน้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะดังกล่าวนี้ จะยังคงทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอยู่ในเกณฑ์มากต่อไปอีกระยะหนึ่ง