TDRI แจงต้นตอขัดแย้งสังคมไทยมาจากการพัฒนาศก.-สังคม-การเมืองไม่เหมาะสม

ข่าวทั่วไป Friday November 5, 2010 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวในงานอภิปรายเรื่อง "คุณภาพสังคมไทย : สถานการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต" ว่า วิกฤติความขัดแย้งในสังคมไทยอาจกล่าวได้ว่ามีผลมาจากปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ไม่คำนึงถึงระดับความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ เช่น การพัฒนาประเทศตามแนวคิดเสรีนิยม หรือเศรษฐกิจทุนนิยมที่มุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความมั่งคั่งและรายได้ โดยใช้การเติบโตของรายได้ต่อหัวและการวัดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) เป็นตัวบ่งชี้มาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชากร

นายนิพนธ์ กล่าวว่า จากการศึกษาสภาพสังคมไทยตั้งแต่ปี 29-52 มีทั้งข่าวด้านดีและข่าวด้านร้ายเกิดขึ้น โดยข่าวดี เช่น สัดส่วนแรงงานที่จะต่ำกว่าป.6 ลดจาก 68% เหลือ 31%, แรงงานจบม.6 เพิ่มจาก 4.5% เป็น 13.3%, แรงงานจบมหาวิทยาลัยเพิ่มจาก 2.7% เป็น 11.8% การศึกษาเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มจาก 5.3 ปี เป็น 8.2 ปี ช่องว่างการศึกษาระหว่างเมืองกับชนบทดีขึ้นทั้งชายและหญิง

ส่วนข่าวด้านร้าย คือ ความเหลื่อมล้ำการศึกษาสูงขึ้น เพราะส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(SD) เพิ่มจาก 3.3 ปี เป็น 4.4 ปี รวมทั้งจากสถิติที่ว่ามีเด็กอยู่กับปู่ย่าตายายที่อายุ 65 ปีขึ้นไปโดยไม่มีพ่อแม่คั่นกลางอยู่ในครอบครัว หรือเรียกว่า "ครัวเรือนแหว่งกลาง" เพิ่มขึ้น 7%หรือประมาณ 2 แสนครอบครัว โดยครัวเรือนแบบแหว่งกลางมีมากที่สุดในชนบทที่ภาคอิสาน 11% และภาคเหนือ 8% ส่วนในกทม.น้อยที่สุด 1.2% ซึ่งสภาพครัวเรือนลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงการผลิตซ้ำความยากจน และความเหลื่อมล้ำในอนาคต เพราะปู่ย่าตายายที่เรียนน้อยไม่สามารถสอนหนังสือเด็กได้

นายนิพนธ์ กล่าวว่า จากการศึกษาทรัพย์สินของคนจนและคนรวยในสังคมไทย พบว่าคนไทยกว่า 60% ของประชากรมีหนี้สิน และสัดส่วนคนมีหนี้เพิ่มจาก 41% ในปี 37 ภาคอีสานมีคนมีหนี้มากที่สุด 72.5% โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ 94% ดังนั้นนโยบายพักชำระหนี้ แปลงหนี้นอกระบบเป็นในระบบ และให้กู้เพิ่มไม่ใช่การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ได้ผล เพราะมีแต่จะสร้างปัญหาหนี้ให้คนส่วนใหญ่ ต้องถามว่ารัฐบาลยังจำเป็นต้องแก้ไขปัญหานี้นอกระบบหรือไม่ ยกเว้นกรณีที่ต้องช่วยเหลือประชาชนจากการทวงหนี้โหดและใช้ข้อกฎหมายเอาเปรียบผู้กู้

ด้านนางสีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนสังคมพร้อมกับขับเคลื่อนประชาธิปไตยนั้น จากข้อมูลจากหลายงานวิจัยพบว่าต้องถอยไปเริ่มต้นที่ครัวเรือนซึ่งเป็นหน่วยเล็กของสังคม ทั้งนี้ประเทศไทยมีครัวเรือนภาคเกษตรประมาณ 30% สภาพเศรษฐกิจของครัวเรือนภาคเกษตรรายได้ 1 แสนบาท/ปี มีการลงทุน 64,000 บาท รายจ่ายอุปโภคบริโภค 84,000 บาท/ปี ต้นฤดูกาลจะมีการลงทุน 50,000 บาท ดังนั้นถ้าครัวเรือนภาคเกษตรกรของประเทศชักหน้าไม่ถึงหลัง หน้าตาประชาธิปไตยของไทยจะเป็นอย่างไร

"ที่ผ่านมาคุณภาพสังคมอยู่ที่คุณภาพพลเมือง วิถีชีวิต วัฒนธรรม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ยากจะแก้ไขได้ เพราะเป็นรากเหง้า ซึ่งวัฒนธรรมของประเทศไทยเป็นแบบจ่าฝูง มีผู้นำ จึงทำให้สังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ อุปถัมภ์โดยจ่าฝูง แต่เราใช้วัฒนธรรมแบบนั้นไม่เป็น ทำให้มีเจ้าพ่อมาเฟียขึ้น ดังนั้นทำให้เห็นว่าสิ่งที่ขาดหายไปคือระบบคัดกรองผู้นำ" นางสีลาภรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากดูจากสถิติการใช้สิทธิการเลือกตั้งปี 50 พบว่ามีคนมาใช้สิทธิถึง 74.5% ถือว่ามากและทำให้การซื้อเสียงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยที่มีปัญหาไม่ใช่เพราะคุณภาพพลเมือง แต่เป็นปัญหาจากพรรคการเมืองมากกว่าหรือเป็นระบบธุรกิจการเมือง และรอบ 10 ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองถูกยุบกว่า 92 พรรคการเมือง จึงเป็นระบบพรรคการเมืองที่มีปัญหา

"เราพูดถึงคุณภาพคน สังคม แต่จากตัวเลขคนมาใช้สิทธิแล้วต้องคิดใหม่ และระบบพรรคการเมืองซึ่งมีงานวิจัยออกมาน้อยมากเกี่ยวกับประสิทธิผล ธรรมภิบาล และวิธีการพัฒนานโยบาย ไม่รู้ระบบพรรค ทำให้การแก้ปัญหาไม่ถูกที่ นอกจากนี้การปรับแก้ระบบราชการถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่กระทบชิ่งทำให้สังคมมีปัญหาด้วย" นางสีลาภรณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ