ศชอ.ยังเฝ้าระวังภาคใต้และอีสานอย่างใกล้ชิด เร่งฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมขัง

ข่าวทั่วไป Tuesday November 9, 2010 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทเยนทร์ มุตตามระ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการ การเร่งรัดฟื้นฟูช่วยเหลือในพื้นที่น้ำท่วมขัง จ.ภาคกลาง ใต้และอีสาน โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมขังนานในภาคเหนือ-อีสาน

พร้อมเร่งรัดการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดทั้งภาคใต้และอีสาน เร่งอพยพประชาชน ลุ่มแม่น้ำ มูล-ชี รวมถึงติดตามผลการร้องเรียนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเร่งรัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานความคืบหน้าทุกวันและให้ประสานธนาคารออมสินให้ดำเนินการติดต่อไปยังจังหวัด และอำเภอเพื่อส่งมอบเงินช่วยเหลือให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงการประสานและส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือไปในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อบำบัดน้ำเสีย

เร่งรัดให้มีการบริจาคสิ่งของจำเป็นสำหรับผู้หญิง เช่น ผ้าอนามัย และชุดชั้นใน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะขาดแคลนมาก ประชาชนที่สนใจบริจาคสามารถติดต่อได้ที่ อสมท. รวมถึงน้ำดื่ม และเครื่องอุปโภค บริโภคต่าง ๆ และดำเนินการประสานงานบริษัทไปรษณีย์ไทยเพื่อส่งของบริจาค และของช่วยเหลือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ที่ประชุมยังกำชับให้มีการแจ้งเตือนภัยและชี้แจงสถานการณ์ฝนตกในภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมอพยพ

สหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและประสบปัญหาไฟไหม้บ้านด้วยการสร้างบ้าน 3 หลังในจ.พิจิตร ลพบุรีและปราจีนบุรี

นอกจากนี้ ให้ฝ้าระวังภัยหนาวในพื้นที่ภาคเหนือ — ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากในอุณหภูมิจะลดลง และมีลมแรงขึ้นตามความกดอากาศสูง โดยอุณหภูมิลดลง 1-2 องศา โดยต่ำสุด 16 องศา และสูงสุด 21 องศา และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงมีน้ำท่วมขัง และหลายพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีมีแนวโน้มน้ำท่วมสูงขึ้น เนื่องจากมีน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในวันที่ 18-20 พ.ย.

ขณะที่ ลุ่มน้ำมูล น้ำเคลื่อนเข้าสู่ จ.อุบลราชธานี แต่ยังคงต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 22ซม. อย่างไรก็ตามมีการเตรียมการสูบน้ำลงแม่น้ำโขงเพื่อลดระดับไว้ รวมทั้งได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำอีก

ในส่วนภาคใต้ ฝนตกเกาะกลุ่มด้านนครศรีธรรมราชและสุราษฏ์ธานี ค่อย ๆ เลื่อนไปทางด้านสงขลา แต่อยู่ไม่นาน โดยมากสุดที่ อบต. เคียงทอง คลื่นลมสูงมากกว่าปกติ แต่ไม่เกิน 3 ม. อยู่ประมาณวันที่ 9-11 พ.ย.53 ในวันที่ 10 พ.ย.เลื่อนไปทางด้านล่านตั้งแต่สงขลาลงไป ฝนตกหนักเต็มที่ 82 มล.ม. เตือนภัยอพยพบางพื้นที่ ในซีกตะวันตกซึ่งเป็นด้านหลังเขา ดังนั้นจึงเยอะกว่าทางด้านภูเก็ต แจ้งเตือนประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ยะลา ตรัง ภูเก็ต สงขลาและนราธิวาสระมัดระวังน้ำท่วมและลมมรสุม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ