นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอเกณฑ์ขอเงินชดเชยเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ประสบภัยธรรมชาติต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาซึ่งจากการสำรวจล่าสุดของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางรายงานมีพื้นที่สวนยางพาราที่ประสบอุทกภัยและวาตภัยรวมทั่วประเทศจำนวน 181,200 ไร่ แยกเป็นอุทกภัย จำนวน 117,600 ไร่ และวาตภัย จำนวน 63,600 ไร่ โดยสวนยางที่ได้รับความเสียหายครั้งนี้แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1) สวนยางที่เปิดกรีดน้ำยางได้แล้วที่อยู่ในการสงเคราะห์ 2)สวนยางที่เปิดกรีดน้ำยางแล้วแต่ไม่อยู่ในการสงเคราะห์ 3) สวนยางที่ยังไม่เปิดกรีดน้ำยางที่อยู่ในการสงเคราะห์ และ4) สวนยางที่ยังไม่ได้เปิดกรีดน้ำยางที่ไม่ได้อยู่ในการสงเคราะห์
ทั้งนี้ การช่วยเหลือจะยึดหลักการแนวทางการสงเคราะห์ แย่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเปิดกรีดน้ำยางได้แล้วและกลุ่มที่ยังไม่ได้เปิดกรีดน้ำยางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอเกณฑ์ครม.อนุมัติเงินช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษในอัตราร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิตต่อไร่ ซึ่งต้นทุนการปลูกยางพาราของเกษตรกรเฉลี่ยอยู่ที่ 10,922 ต่อไร่ ดังนั้น ร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิต จะคิดเป็นเงิน จำนวน 6,007 บาทต่อไร่ บวกเพิ่มจากที่เกษตรกรได้รับเงินสงเคราะห์ปลูกต้นยางใหม่ตามปรกติอีกจำนวน 11,000 บาทต่อไร่
โดยเกษตรกรจะกลับเข้าสู่กระบวนการรับการสงเคราะห์ของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางใหม่อีกครั้ง จนครบระยะเวลา 5 ปีครึ่ง ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือจากทั้ง 2ส่วนนี้ รวมเป็นเงิน 17,007 บาทต่อไร่
ในส่วนของสวนยางที่มีความเสียหายบางส่วนจะดำเนินการช่วยเหลือฟื้นฟูตามความเหมาะสมสำหรับกลุ่มผู้ปลูกยางพาราที่ยังไม่ได้เปิดกรีดน้ำยางนั้น จะนัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อหาข้อยุติในส่วนของเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในวันอังคารที่จะถึงนี้ขณะนี้จากการสำรวจของสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยางพบมีพื้นที่สวนยางพาราที่ประสบอุทกภัยและวาตภัยรวมทั่วประเทศ จำนวน 181,200 ไร่ แยกเป็นอุทกภัย จำนวน 117,600 ไร่ และวาตภัย จำนวน 63,600 ไร่ สำหรับที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีต้นยางหักโค่นเสียหายจากวาตภัยในช่วงวันที่ 1-2 พฤศจิกายน รวมทั้งสิ้น 18,200 ไร่และยังมีสวนยางพาราที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมขังและอาจได้รับความเสียหายซึ่งต้องรอหลังน้ำลดจึงจะเข้าสำรวจได้อีกประมาณ 15,000 ไร่