กทม. เล็งเพิ่ม BRT แบบยกระดับอีก 2 เส้นทาง รองรับการพัฒนาเมืองใหม่ฝั่งต.อ.

ข่าวทั่วไป Wednesday November 17, 2010 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มีแนวคิดที่จะพัฒนาเส้นทางการจราจรและระบบเชื่อมต่อควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองใหม่ พร้อมจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับการเติบโตของเมืองและจัดการแข่งขันกีฬากีฬาฟุตซอลชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 7 ปี 2012 (พ.ศ. 2555) ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่นักกีฬาและประชาชนในการเดินทางจากเมืองสู่สนามแข่งขัน

นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่เขตหนองจอก ซึ่งขณะนี้ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว และในอนาคตจะมีการเปิดรับนักศึกษาคณะต่างๆ อีกทั้งก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษา ตลอดจนเกิดชุมชนขนาดใหญ่โดยรอบพื้นที่อีกด้วย

โดยได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย กทม. ศึกษาการสร้างเมืองขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตหนองจอก โดยสำรวจและรวบรวมพื้นที่ว่างเปล่าจำนวน 1,000 ไร่ เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ที่อยู่อาศัย มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล ตลอดจนชุมชนโดยรอบ

พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการก่อสร้างรถบีอาร์ที อีก 2 เส้นทาง คือ เส้นทางหนองจอกถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อโดยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เข้าสู่เมือง และเส้นทางหนองจอกถึงมีนบุรี เพื่อเดินทางเชื่อมต่อโดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี) เข้าสู่เมือง โดยการก่อสร้างเส้นทางรถบีอาร์ทีจะดำเนินการในลักษณะทางยกระดับเพื่อไม่ให้ทับซ้อนเส้นทางบนถนนสายหลัก ทำให้สามารถควบคุมเวลาในการเดินทางได้

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส กับรถประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) บริเวณแยกสาทร-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ในวงเงินงบประมาณ 190 ล้านบาทว่า ขณะนี้มีความก้าวหน้า 70% คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือน ธ.ค.นี้

สำหรับจุดเชื่อมต่อมีพื้นที่ลานเอนกประสงค์ ขนาด 1 ไร่ สามารถใช้ทำกิจกรรมและเต้นแอโรบิกได้ โดย กทม.ตั้งเป้าที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2554 พร้อมกันนี้ได้มอบให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ศึกษาการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้า (Sky walk) จากจุดเชื่อมต่อดังกล่าวไปถึงสวนลุมพินี ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร งบประมาณ 200-300 ล้านบาท โดยให้ศึกษาแนวทางเบื้องต้นว่า กทม.จะลงทุนเองแล้วหารายได้จากการเอกชนขอเชื่อมทางเดินเข้าระบบ หรือหาเอกชนร่วมลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ