กรมป้องกันฯ เตรียมมาตรการรับมือหมอกควันและไฟป่าช่วงฤดูแล้ง ปี 53-54

ข่าวทั่วไป Tuesday November 23, 2010 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี สภาพอากาศของประเทศไทยจะแห้งแล้งและมีลมกระโชกแรง ประกอบกับผิวดินมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าและหมอกควันได้ง่าย ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า

ด้านการเตรียมความพร้อม จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ รวมถึงจัดให้มีศูนย์ระวังและเตือนภัยในระดับหมู่บ้าน และชุมชน ปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย จัดทำแผนการป้องกันและระงับไฟป่าให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยเน้นการบูรณาการมาตรการด้านการควบคุมและป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือนการฝึกซ้อมแผนและการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ดับเพลิงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วและเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านมาตรการควบคุม ควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน โดยจัดระบบการจัดเก็บคัดแยก และจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธี ควบคุมไม่ให้เผาขยะมูลฝอยและหญ้าแห้งในเขตชุมชน และบริเวณริมทาง ส่วนการควบคุมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ให้ดำเนินมาตรการควบคุม ป้องกันแจ้งเตือนสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมในการระงับไฟป่า โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจตรา ดูแล ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้และการควบคุมไฟป่าในพื้นที่อย่างจริงจัง รวมทั้งส่งเสริมภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากอัคคีภัยและไฟป่า แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และผลกระทบของไฟป่าที่มีต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดไฟป่าและงดเว้นการจุดไฟใกล้บริเวณแนวป่าอย่างเด็ดขาด

ส่วนเกษตรกรให้ใช้วิธีไถกลบวัชพืชแทนการเผา รวมถึงส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ปลอดการเผา และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรปลอดการเผา

ด้านการปฏิบัติการดับไฟ กรณีเกิดวิกฤตไฟป่าในพื้นที่ ให้ประสานสนธิกำลังในการดับไฟป่าร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ตำรวจตระเวนชายเดน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ด้านมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ให้จังหวัดพิจารณาบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จากการประสานข้อมูลกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงเกิดหมอกควันและไฟป่า รวมทั้งสิ้น 64 จังหวัด แยกเป็น พื้นที่เสี่ยงสูง 27 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย สกลนคร อุดรธานี อุบลราชธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส

พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 27 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว ชุมพร และสุราษฎร์ธานี

และพื้นที่เสี่ยงต่ำ 10 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา และสตูล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ