กรมควบคุมโรค ระบุยังไม่พบผู้ป่วยไหวัดนกในไทยแต่สั่งทุกจังหวัดเฝ้าระวัง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 24, 2010 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกระแสข่าวไข้หวัดนกที่อาจกลับมาระบาด หลังฮ่องกงพบผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 59 ปีที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศจีน ติดเชื้อไข้หวัดนกเป็นรายแรกในรอบ 7 ปีว่า สำหรับประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกมามากกว่า 4 ปีแล้ว

สำหรับในปี 53 ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกแล้ว 40 คน เสียชีวิต 20 คน ใน 5 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และกัมพูชา ส่วนรายงานจากองค์การสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) พบโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกใน 13 ประเทศและเขตปกครอง ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน ฮ่องกง บัลกาเรีย อิสราเอล อินเดีย เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว เนปาล โรมาเนีย

นพ.มานิต กล่าวว่า ปัจจุบันการแพร่ติดต่อของเชื้อไข้หวัดนกจากผู้ป่วยยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ประชาชนจึงยังไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางไปฮ่องกง รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนก แต่ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกหรือเข้าไปที่ตลาดขายสัตว์ปีกมีชีวิต และควรรักษาสุขอนามัย โดยเฉพาะการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ หลังจากกลับจากต่างประเทศที่มีโรคนี้ระบาด หากมีอาการไข้ ไอ ควรรีบไปโรงพยาบาล และแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย

สำหรับมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกของประเทศไทย จะติดตามและประเมินสถานการณ์ไข้หวัดนกในฮ่องกงและประเทศอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการดำเนินงานเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคเพื่อเตรียมพร้อมในทุก ๆ ด้าน แต่จะยังไม่แนะนำให้ทำการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีผู้ป่วยไข้หวัดนก เนื่องจากการติดต่อจากคนสู่คนยังเกิดขึ้นได้ยากมาก

แต่จะยังคงระดับการเฝ้าระวังโรคในสัตว์และในคนให้เข้มแข็ง ทั้งสัตว์ปีกในพื้นที่ ผู้ป่วยในชุมชนและในโรงพยาบาลเพื่อให้สามารถตรวจพบสัตว์ป่วยและผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงในประเทศและพื้นที่ชายแดนติดต่อประเทศที่มีการระบาด ซึ่งจะมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสาธารณสุข ปศุสัตว์ ท้องถิ่น อสม. และชุมชน รวมทั้งการรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติทันที เพื่อควบคุมการระบาดได้รวดเร็วไม่ให้มีการแพร่ติดต่อมายังประชาชน

พร้อมทั้งเผยแพร่คำแนะนำการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ผ่านการสื่อสารทุกช่องทาง โดยเฉพาะสื่อท้องถิ่น เ น้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามพื้นที่และสถานการณ์ความเสี่ยง โดยควรเผยแพร่ให้ประชาชนทราบปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่ เป็ด ที่ป่วยหรือตายจากไข้หวัดนก การติดเชื้อเกิดขึ้นขณะชำแหละ อุ้มสัตว์ปีก ดูดเสลดไก่ชน รวมทั้งกินไก่ เป็ด หรือเครื่องในที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ