ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการต่อการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย พบว่ามีผู้ประกอบการเพียง 30.2% เท่านั้นที่เข้าใจความหมายของคำว่า "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ส่วนที่เหลือ 36.2% ยังไม่ค่อยเข้าใจ และอีก 33.6% ไม่เข้าใจเลย
นอกจากนี้ผู้ประกอบการมากถึง 64.3% ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลได้กำหนดให้ใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อถามถึงการนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปใช้กับกิจการพบว่า ผู้ประกอบการ 47.1% ยังไม่มีการกำหนดแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ในวิสัยทัศน์/พันธกิจ/หรือแผนงาน ในจำนวนนี้มีถึง 42.3% ที่ไม่ได้มีการนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปใช้กับตัวสินค้าหรือบริการ
ส่วนประเภทของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ผู้ประกอบการเห็นว่าเหมาะกับศักยภาพของคนไทยและประเทศไทยที่รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมากที่สุดอันดับแรก คือ งานฝีมือและหัตถกรรม รองลงมาคืองานออกแบบ และงานสถาปัตยกรรม
สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้กับกิจการ คือ 1.เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยทำให้ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอในการนำไปปรับใช้ รวมทั้งไม่รู้ว่าจะนำไปปรับใช้อย่างไร 2. พนักงานไม่มีความพร้อมในการที่จะสร้างสรรค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์รวมถึงการนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน นอกจากนี้พนักงานยังมีแนวความคิดเดิมๆ ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ ขณะที่เจ้าของกิจการบางส่วนยังไม่ยอมรับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และ 3.กิจการขาดแคลนเงินทุนในการศึกษาวิจัยหรือคิดค้นนวัตกรรมอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือโดยการจัดอบรมสัมนาและทำ Workshop เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เห็นภาพว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์สามารถนำมาใช้ได้จริงกับกิจการที่ทำอยู่ รองลงมาคือ ต้องการให้รัฐเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความสำคัญอย่างไร
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 56.9% สนใจเข้าร่วมงานมหกรรมเศรษฐกิจสรางสรรค์นานาชาติ ซึ่งรัฐบาลกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28-30 พ.ย.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยคาดหวังว่าจะได้รับความรู้และไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้จริงกับกิจการที่ทำอยู่ รองลงมา คือ คาดหวังว่าจะได้เห็นตัวอย่างนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์จากในประเทศและต่างประเทศที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของผู้ประกอบการในกิจการ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มแฟชั่น 2.กลุ่มก่อสร้าง 3. กลุ่มยานยนต์และเครื่องจักรกล 4.กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5.กลุ่มอาหารและยา 6.กลุ่มบริการและบริการการค้า 7.กลุ่มสนับสนุน รวมทั้งสิ้น 462 ตัวอย่าง ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 22-24 พฤศจิกายน 2553