ศูนย์เตือนภัยพิบัติฯติดตั้ง 2 ทุ่นลอยตรวจสอบคลื่นยักษ์สึนามิแม่นยำขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday December 6, 2010 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติปล่อยเรือปฏิบัติการติดตั้ง 2 ทุ่นลอย เสริมประสิทธิภาพตรวจวัดคลื่นยักษ์ในทะเลอันดามัน เผยเป็นทุ่นระบบเทคโนโลยีทันสมัยมาตรฐานสากล มีความแม่นยำ ส่งข้อมูลเร็ว

นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานปล่อยเรือปฏิบัติการติดตั้งทุ่นลอยน้ำลึกตรวจวัดสึนามิในทะเลอันดามัน ที่ท่าเรือศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ วันนี้ (6 ธ.ค.) ว่า การติดตั้งทุ่นลอยครั้งนี้ มีจำนวน 2 ทุ่น มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท เพื่อระบบเตือนภัยสึนามิให้มีความแม่นยำมีประสิทธิภาพ สามารถรับข้อมูลสึนามิตามเวลาจริง ทำให้แจ้งเตือนภัยได้รวดเร็วถูกต้อง เพิ่มหลักประกันความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวบริเวณฝั่งทะเลอันดามัน โดยติดตั้งทุ่นที่ 1 คือ ทุ่นลอยน้ำลึกไว้ห่างจากหมู่เกาะสุรินทร์ประมาณ 130 ไมล์ทะเล เยื้องไปทางประเทศพม่า

ส่วนทุ่นที่ 2 เป็นทุ่นลอยผิวน้ำ จะติดตั้งห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 124 ไมล์ทะเล เยื้องไปทางประเทศมาเลเซีย โดยทุ่นดังกล่าวจะส่งข้อมูลมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทุก 6 ชั่วโมง ในสถานการณ์ปกติ แต่ถ้าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว ทุ่นทั้งสองจะส่งข้อมูลมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติและวิเคราะห์ประมวลผลได้ภายใน 5 นาที พร้อมวัดค่าการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทุก 15 วินาที จนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ

ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยฯ กล่าวด้วยว่า ทุ่นลอยเป็นเทคโนโลยีระบบเตือนภัยสึนามิพื้นฐานที่ใช้อยู่ในระบบสากล มีความถูกต้องและแม่นยำกว่าการใช้เครื่องวัดระดับน้ำทะเลเพียงอย่างเดียว คาดว่า เรือปฏิบัติการจะใช้เวลาเดินทาง 5-7 วัน จึงถึงที่หมาย จากนั้นจะทดสอบระบบด้วยการส่งสัญญาณดาวเทียมมาปรากฏที่เครื่องรับสัญญาณ ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติในวันที่ 14 ธันวาคมนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ