In Focusเปิดแฟ้ม 3 สาวมั่นผู้เป็นแรงบันดาลใจของคนทั่วโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 8, 2010 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่โบราณกาลบุรุษเป็นผู้ครอบครองอำนาจและมีบทบาทสำคัญในสังคมโลกอย่างแทบไม่มีที่ว่างให้สตรีได้มีส่วนร่วม แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป สตรีเพศก็ได้รับการยอมรับนับถือมากขึ้น จนปัจจุบันสตรีจำนวนมากสามารถผงาดขึ้นมาโดดเด่นบนเวทีโลกได้ไม่แพ้บุรุษ In Focus รวบรวมบุคคลเด่นส่งท้ายปีนี้ จึงขอกล่าวถึง 3 สาวมั่นซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิง (และผู้ชาย) ทั่วโลก

จูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของแดนจิงโจ้

เช้าวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2553 ทั่วโลกต่างตื่นขึ้นมาพบกับความประหลาดใจ เมื่อออสเตรเลียได้ผู้นำประเทศคนใหม่แบบไม่คาดฝันมาก่อน และที่สำคัญไปกว่านั้นคือผู้นำคนนี้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ ชื่อของเธอคือ จูเลีย กิลลาร์ด

จูเลีย กิลลาร์ด วัย 48 ปี ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของออสเตรเลีย หลังจากที่สมาชิกพรรคแรงงานมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนที่นายเควิน รัดด์ ที่คะแนนนิยมตกต่ำอย่างหนักอันเนื่องมาจากการชูนโยบายจัดเก็บภาษีธุรกิจเหมืองแร่และการตัดสินใจชะลอโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้พรรคแรงงานพ่ายแพ้การเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม การเปลี่ยนผู้นำพรรคจึงเป็นหนทางที่อาจช่วยหลีกเลี่ยงความพ่ายแพ้ได้

นอกจากสมาชิกพรรคแรงงานแล้ว ประชาชนคนทั่วไปยังแสดงความคาดหวังว่าการได้ผู้นำประเทศเป็นผู้หญิงจะช่วยเปลี่ยนแปลงการเมืองออสเตรเลียในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นดังหวัง เมื่อพรรคแรงงานของจูเลีย กิลลาร์ด และพรรคเสรีนิยมของโทนี แอบบอทท์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้คะแนนเท่ากัน 72 ที่นั่ง ไม่มีใครได้เสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลให้การเมืองออสเตรเลียตกอยู่ในภาวะ "Hung Parliament" หรือภาวะที่ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งในรัฐสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี และทำให้เกิดภาวะล็อกตายทางการเมืองอยู่นานกว่า 2 สัปดาห์หลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง แต่ในที่สุดพรรคแรงงานของกิลลาร์ดก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แบบหืดขึ้นคอเพราะได้เสียงจาก ส.ส. อิสระมาช่วยเติมที่นั่งได้ครบ 76 ที่นั่ง แต่นั่นก็มากกว่าฝ่ายค้านและพันธมิตรอยู่แค่เสียงเดียวเท่านั้น

ในวันที่ 14 กันยายน 2553 จูเลีย กิลลาร์ด ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ผ่านมาเกือบ 3 เดือน ผู้นำหญิงคนแรกของแดนจิงโจ้ยังคงทำหน้าที่อย่างแข็งขัน แต่ผลของการทำงานจะออกหัวหรือก้อยนั้น คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการพิสูจน์ฝีมือของเธอคนนี้ แต่อย่างน้อยเธอก็เป็นผู้หญิงอีกคนที่ทำให้ทั่วโลกตระหนักอีกครั้งว่า ผู้หญิงก็มีความสามารถพอที่จะเป็นผู้นำได้

ประวัติโดยย่อ

จูเลีย กิลลาร์ด เกิดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2504 ในแคว้นเวลส์ของสหราชอาณาจักร เนื่องจากตอนเด็กเธอมีอาการหลอดลมใหญ่และปอดอักเสบ แพทย์จึงแนะนำให้เธออยู่ในประเทศที่มีอากาศอบอุ่น ในปี 2509 พ่อและแม่จึงตัดสินใจพาเธอและพี่สาวอพยพไปตั้งรกรากที่เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย เธอจบการศึกษาหลักสูตรนิติศาสตร์บันฑิตในปี 2529 ในปีถัดมาเธอก็ได้เข้าทำงานที่บริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งในออสเตรเลียโดยดูแลด้านกฎหมายอุตสาหกรรม

ในปี 2541 กิลลาร์ดได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนของเขตเลือกตั้งลาเลอร์ ทางตะวันตกของเมืองเมลเบิร์น ในปี 2544 หลังจากที่พรรคแรงงานพ่ายแพ้การเลือกตั้ง กิลลาร์ดได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีเงาในตำแหน่งรัฐมนตรีเงากระทรวงประชากรและการอพยพย้ายถิ่น ในเดือนกรกฎาคมปี 2546 เธอได้เป็นรัฐมนตรีเงากระทรวงสาธารณสุข

ในวันที่ 3 ธันวาคม 2550 เธอได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลีย พร้อมควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม ภายใต้รัฐบาลของเควิน รัดด์ จากนั้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2550 เธอก็สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีเมื่อนายรัดด์เดินทางไปประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหประชาชาติที่ประเทศอินโดนีเซีย และในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 เธอก็สร้างประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดด้วยการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลีย

ออง ซาน ซู จี ดอกไม้เหล็กแห่งลุ่มแม่น้ำอิรวดี

เย็นวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ในที่สุดเวลาที่ประชาคมโลกรอคอยก็มาถึง เมื่อรัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขผูกมัดใดๆ ซูจีปรากฏตัวในชุดประจำชาติพม่าสีม่วงอ่อน นางได้กล่าวทักทายฝูงชนที่ร้องตะโกนให้กำลังใจและร้องเพลงชาติกันอย่างมีความสุข ในที่สุดเธอก็ได้รับอิสรภาพหลังจากที่ถูกกักบริเวณอยู่แต่ภายในบ้านเกือบตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

หนึ่งวันหลังได้รับอิสรภาพที่รอคอยมานาน ซูจีได้กล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรก ณ ที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี ต่อหน้าฝูงชนหลายหมื่นคน โดยเธอแสดงจุดยืนว่าจะทำงานเพื่อสร้างความปรองดองในประเทศ และยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านหรือเกลียดชังรัฐบาลทหารพม่าที่สั่งกักบริเวณเธอมานาน พร้อมระบุว่าการเจรจาเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาต่างๆในพม่าได้ ดังนั้นเธอพร้อมพบปะหารือกับแกนนำรัฐบาลทหารพม่า รวมถึงพร้อมรับฟังความคิดเห็นของชาวพม่าและกลุ่มผู้สนับสนุนจากนานาชาติว่าอยากให้เธอเดินหน้าต่อไปอย่างไร

คำปราศรัยที่กินใจของซูจีทำให้ชาวพม่าและประชาคมโลกเกิดความหวังขึ้นอีกครั้งว่าประชาธิปไตยในพม่าอาจไม่ใช่ฝันอีกต่อไป อย่างไรก็ดี เส้นทางสู่ประชาธิปไตยในพม่ายังคงมีขวากหนามมากมาย เนื่องจากซูจีและรัฐบาลทหารพม่ายังมีแนวคิดที่ต่างกันสุดขั้ว ฝ่ายซูจีต้องการให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังคงต้องการกุมอำนาจไว้เพียงผู้เดียว และอีกประเด็นสำคัญที่น่าจะทำให้การหันหน้าเข้าหากันระหว่างนางซูจีและรัฐบาลทหารพม่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากยิ่งคือ การที่ซูจีออกมาประกาศกร้าวว่าเธอและคณะกรรมการของพรรคเอ็นแอลดีจะตรวจสอบการโกงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และจะเปิดเผยรายงานเรื่องนี้ต่อสาธารณชนในไม่ช้า การแสดงจุดยืนที่ “กระด้างกระเดื่อง" เช่นนี้ ถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลทหารพม่าอย่างแรง และอาจทำให้นางถูกกักบริเวณอีกได้ไม่ยาก ดังเช่นในอดีตที่นางเคยถูกกักบริเวณสลับกับถูกปล่อยตัวหลายรอบ อย่างไรก็ดี นางยืนยันว่าไม่กลัวการถูกกักบริเวณอีก และเราก็เชื่อมั่นว่าความอดทน ความแข็งแกร่ง และอุดมการณ์อันแรงกล้าที่ฝังรากลึกในจิตใจของสตรีผู้นี้ จะทำให้นางทำในสิ่งที่ตนเองยึดมั่นต่อไปโดยไม่หวั่นไหวอย่างแน่นอน

ย้อนรอยเส้นทางการต่อสู้ของวีรสตรีชาวพม่า

ปลายเดือนมีนาคม 2531 พม่ากำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและความวุ่นวายทางการเมือง ประชาชนไม่พอใจการปกครองระบอบเนวินและรวมตัวกันประท้วงกดดันจนนายพลเนวินต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ที่ยึดอำนาจปกครองพม่ามานานถึง 26 ปี

8 สิงหาคม 2531 หรือราว 2 สัปดาห์หลังการลาออกของนายพลเนวิน ประชาชนนับล้านรวมตัวกันในย่างกุ้งเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และแผ่ขยายไปทั่วประเทศ ผู้นำทหารสั่งการให้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุม ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมต้องสังเวยชีวิตไปหลายพันคน

15 สิงหาคม 2531 ออง ซาน ซูจี วัย 43 ปี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป และหลังจากนั้น 11 วันก็ได้กล่าวปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกต่อหน้าฝูงชนประมาณ 500,000 คน

24 กันยายน 2531 ออง ซาน ซูจี ได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

20 กรกฎาคม 2532 รัฐบาลเผด็จการสั่งกักบริเวณนางซูจีให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรกด้วยระยะเวลา 3 ปีโดยไม่มีข้อหา และจับกุมสมาชิกพรรคจำนวนมากไปคุมขัง

27 พฤษภาคม 2533 พรรคเอ็นแอลดีของเธอได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป แต่รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้ และยื่นข้อเสนอให้นางซูจียุติบทบาททางการเมืองและเดินทางออกนอกประเทศไปใช้ชีวิตกับสามีและบุตร แต่นางปฏิเสธ รัฐบาลทหารจึงมีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณเธอเป็น 5 ปี และเพิ่มอีก 1 ปีในเวลาต่อมา

14 ตุลาคม 2534 ออง ซาน ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากคณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์

10 กรกฎาคม 2538 นางซูจีได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณครั้งแรกแต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลาจนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ นอกจากนั้นยังถูกลอบทำร้ายบ่อยครั้งแม้จะมีกำลังตำรวจคอยคุ้มกันก็ตาม แต่นางก็ต่อสู้ด้วยสันติวิธีตลอดมา โดยใช้วิธีเขียนจดหมาย เขียนหนังสือ บันทึกวีดีโอเทป ออกสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง

21 กันยายน 2543 นางซูจีถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่ 2 โดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดเช่นเคย ก่อนจะได้รับอิสรภาพในเดือนพฤษภาคม 2545

30 พฤษภาคม 2546 เกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลกับกลุ่มผู้สนับสนุนนางซูจี นางซูจีถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่ 3 โดยรัฐบาลพม่าอ้างว่าจำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยของนางซูจีเอง หลังจากนั้นรัฐบาลทหารพม่าก็ขยายระยะเวลาในการกักขังนางซูจีมาโดยตลอด

25 พฤษภาคม 2551 ครบกำหนดการคุมขังนางซูจีตามกฎหมายความมั่นคงของพม่า แต่รัฐบาลพม่ายังประกาศขยายเวลากักขังนางต่อไปอีกปี

3 พฤษภาคม 2552 หรือไม่ถึง 1 เดือนก่อนที่คำสั่งกักบริเวณของเธอจะสิ้นสุดลงในวันที่ 27 พฤษภาคม นายจอห์น วิลเลียม เยตทอว์ ชายชาวอเมริกันวัย 53 ปี ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบและลักลอบเข้าไปยังบ้านพักของนางซูจีในกรุงย่างกุ้ง เขาพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 2 วันและถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมขณะว่ายน้ำกลับออกมา ส่งผลให้นางซูจีถูกตั้งข้อหาละเมิดเงื่อนไขการกักบริเวณ

11 สิงหาคม 2552 ซูจีถูกตัดสินว่าฝ่าฝืนคำสั่งการกักบริเวณจริง และถูกตัดสินจำคุก 3 ปี แต่ได้รับการลดโทษเป็นการกักบริเวณเพิ่มอีก 18 เดือน

7 พฤศจิกายน 2553 พม่าจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี แต่พรรคเอ็นแอลดีของซูจีตัดสินใจคว่ำบาตรไม่ร่วมการเลือกตั้งโดยให้เหตุผลว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรมและไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ถูกยุบพรรคไปในที่สุด

13 พฤศจิกายน 2553 รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวออง ซาน ซู จี ในที่สุด

สรุปแล้ว ออง ซาน ซู จี วัย 65 ปี ต้องโทษกักบริเวณในบ้านพักเป็นเวลานานถึง 15 ปี ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา และเราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า อิสรภาพที่เธอได้รับในครั้งนี้จะเป็นอิสรภาพที่ถาวรหรือไม่

เคท มิดเดิลตัน ว่าที่เจ้าหญิงที่สาวๆทั่วโลกอิจฉา

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 หญิงสาวทั่วโลกต่างถอนหายใจด้วยความเสียดายและริษยา เมื่อสำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงการณ์ว่า เจ้าชายวิลเลียม พระโอรสองค์โตของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ และเจ้าหญิงไดอาน่า ผู้ล่วงลับ ทรงหมั้นกับ เคท มิดเดิลตัน แฟนสาวที่คบหาดูใจกันมานานถึง 8 ปี และอีกไม่กี่วันต่อมาก็มีแถลงการณ์ออกมาว่า ทั้งคู่จะเข้าพิธีอภิเษกสมรสในวันที่ 29 เมษายน 2554 ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ที่เคยใช้ประกอบพิธีสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอังกฤษมาแล้วมากมาย

เคท มิดเดิลตัน ซึ่งสาวๆ ทั่วโลกต่างอิจฉาและชื่นชมในเวลาเดียวกัน เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2525 บิดาเป็นพนักงานวางแผนเส้นทางบินของสายการบินบริติช แอร์เวย์ ส่วนมารดาเป็นแอร์โฮสเตส นอกจากนั้นครอบครัวของเธอยังร่ำรวยจากการทำธุรกิจขายสินค้าจัดเลี้ยงและตกแต่งบ้าน เธอเป็นพี่คนโตของน้องอีก 2 คน ทั้งหมดเติบโตมาในย่านเบิร์กไชร์ หญิงสาวผู้เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจคนนี้จบการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนมาร์ลโบโรห์ คอลเลจ ก่อนจะเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ในสกอตแลนด์ในปี 2544 ซึ่งเป็นที่ที่เธอได้พบรักกับเจ้าชายวิลเลียมนั่นเอง

ในปี 2550 มีข่าวว่าความรักของทั้งคู่ถึงคราวสะดุด เมื่อสื่อรายงานว่าเคทผูกมัดเจ้าชายมากเกินไป ขณะที่เจ้าชายยังไม่พร้อมสละชีวิตโสด แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีข่าวว่าทั้งสองกลับมาคบหากันใหม่ แม้ทั้งคู่จะออกมายืนยันว่าเป็นเพียงเพื่อนและไม่เคยปรากฏตัวด้วยกัน จนกระทั่งปี 2551 เคทปรากฏตัวในงานประดับปีกที่วิทยาลัยกองทัพอากาศและร่วมพิธีติดยศของเจ้าชายวิลเลียม แสดงให้เห็นว่าทั้งคู่กลับมาสานสัมพันธ์กันอีกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 16 พฤศจิกายน สำนักพระราชวังได้แถลงข่าวว่าทั้งสองหมั้นกันแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่ประเทศเคนยา และจะเข้าพิธีอภิเษกสมรสในปีหน้า

ทันทีที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากสำนักพระราชวัง เคทก็กลายเป็นไอดอลของหญิงสาวทั่วโลก โดยเหตุการณ์ในวันที่เคทออกมายืนเคียงข้างเจ้าชายวิลเลียมเพื่อประกาศหมั้นอย่างเป็นทางการนั้น ทำให้ชุดเดรสสีน้ำเงินแบรนด์ Issa London ที่เธอสวมใส่ขายหมดสต็อกภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง แม้ชุดหรูดังกล่าวจะมีราคาสูงถึง 399 ปอนด์ และด้วยกระแสความแรงดังกล่าวทำให้เสื้อผ้าแบรนด์ F&F ของห้างค้าปลีกชื่อดังอย่างเทสโก้ ผลิตชุดเดรสที่มีลักษณะใกล้เคียงกันออกมาในราคาเพียง 16 ปอนด์ ทำให้ความสวยแบบเคทอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป ขณะเดียวกันแหวนหมั้นที่เจ้าชายวิลเลียมมอบให้กับเคท ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นแหวนของเจ้าหญิงไดอาน่าผู้งามสง่า ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดยเว็บไซต์จำหน่ายเครื่องประดับชื่อดังอย่าง QVC.com เปิดเผยว่า แหวนที่มีลักษณะคล้ายกับแหวนหมั้นของเคทมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 800 % นับตั้งแต่วันที่มีการแถลงข่าวการหมั้นอย่างเป็นทางการ

แม้จะได้รับความสนใจและชื่นชมจากทั่วโลกในฐานะ “ว่าที่เจ้าหญิง" แต่ชีวิตของเคทคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนเจ้าหญิงในเทพนิยาย เพราะการเป็นคนรักของเจ้าชายรูปงามแห่งอังกฤษทำให้เธอตกเป็นเป้าของเหล่าปาปาราซซี่ผู้หิวกระหาย เช่นเดียวกับที่เจ้าหญิงไดอาน่าเคยเผชิญมาแล้ว โดยบรรดาหนังสือพิมพ์หัวสีชื่อดังแดนผู้ดีถึงกับประกาศรับซื้อภาพส่วนตัวของเคทจากเหล่าปาปาราซซี่ จนกระทั่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายวิลเลียม และทนายความของตระกูลมิดเดิลตัน ต้องประกาศเตือนว่าผู้ใดที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของหญิงสาวจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ถึงกระนั้นการไล่ล่าหาข่าวเกี่ยวกับเธอและราชวงศ์คงไม่จบอยู่แค่นี้ และคงมีเพียงความอดทนและหนักแน่นเท่านั้นที่จะช่วยให้เธอแบกรับแรงกดดันและผ่านพ้นปัญหากวนใจเหล่านี้ไปได้

In Focus หวังว่าสุดยอดสตรี 3 คนแห่งปีเสือจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกท่านก้าวเข้าสู่ปีหน้าฟ้าใหม่อย่างอดทน เข้มแข็ง และเปี่ยมด้วยความมั่นใจต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ