แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ส.ส. และ ส.ว. ในวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามในที่ประชุมถึงการปรับเงินเดือนข้าราชการส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะตำแหน่งทางด้านศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลฎีกา ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)
ทั้งนี้ ทางเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ได้ชี้แจงว่า กรณีของศาลจะได้รับเงินเดือนขึ้นเท่ากันหมด ส่วนเงินเดือนของ กกต.จะเทียบเท่ากับเงินเดือนในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
แหล่งข่าว ยังเปิดเผยว่า การปรับขึ้นเดือนข้าราชการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับรายได้ข้าราชการให้เท่าทันกับค่าครองชีพ โดยการขึ้นเงินเดือนดังกล่าว ในส่วนของ ส.ว.และข้าราชการจะมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.54 ส่วน ส.ส.จะให้เริ่มใช้อัตราเงินเดือนใหม่หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลของการขึ้นเงินเดือนให้ ส.ส.ว่า ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ยังไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือน และจากข้อมูลพบว่า ตำแหน่ง ส.ส.ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าอัยการจังหวัด จึงจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นเงินเดือนของฝ่ายบริหารให้เท่าเทียมกับสภาพความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาประเด็นเรื่องสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือค่ายานพาหนะของ ส.ส. และหลักประกันสุขภาพนั้น ที่ประชุม ครม.วันนี้ได้มีการหารือ และให้ความเห็นชอบในส่วนของเบี้ยประชุมคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยจะให้มีการจ่ายเบี้ยประชุมครั้งละ 1,200 บาทสำหรับกรรมาธิการทั่วไป ส่วนประธานกรรมาธิการจะได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,500 บาท ส่วนอนุกรรมาธิการฯ มีความเห็นชอบให้จ่ายเบี้ยประชุมครั้งละ 800 บาท แต่จะจำกัดจำนวนผู้ที่จะได้รับเบี้ยประชุม กล่าวคือให้อนุกรรมาธิการไปจัดสรรกันเอง
ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือค่ายานพาหนะ ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจะจ่ายแบบเหมาจ่ายหรือจ่ายเฉพาะวันที่มีการประชุมสภาเท่านั้น จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหาข้อสรุป รวมถึงกรณีของหลักประกันด้านสุขภาพให้กับ ส.ส.และ ส.ว.ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการจ่ายเบี้ยประกันและค่าผ่าตัดอัตราเท่าใด จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหาข้อสรุปเช่นเดียวกัน