ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้กรมทางหลวงชนบทใช้พื้นที่ป่าชายเลนเพื่อก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย-เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน
นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะราย เพื่อให้กรมทางหลวงชนบทใช้พื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าหลังสอดและป่าควนบากันเกาะ(ป่า C) อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เนื้อที่ประมาณ 14.19 ไร่ เพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย-เกาะลันตาใหญ่
โครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่เกาะลันตา และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยกรมทางหลวงชนบทได้จัดส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งรายงานดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.52 และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.53
สำหรับพื้นที่เกาะลันตาน้อยและเกาะลันตาใหญ่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ 2 เกาะไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้การเดินทางเข้า-ออกต้องอาศัยแพขนานยนต์ในการเดินทางข้ามฝากถึง 2 ช่วง คือ จากแผ่นดินใหญ่-เกาะลันตาน้อย-เกาะลันตาใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้บริการเป็นจำนวนมาก ขณะที่แพขนานยนต์ที่ให้บริการในแต่ละช่วงสามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้จำกัดจึงก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้าและอุบัติเหตุในการเดินทาง เพราะมีปริมาณรถยนต์มาจอดรอขึ้นแพขนานยนต์ในแต่ละช่วงเป็นจำนวนมากและบ่อยครั้งต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน 3-5 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางเป็นอย่างมาก
โดยสถานที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกของรัฐ เช่น ที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา โรงพยาบาลเกาะลันตา สถานีตำรวจภูธรเกาะลันตา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเกาะลันตา และสถานศึกษา เป็นต้น ตั้งอยู่กระจัดกระจาย แต่โดยส่วนใหญ่จะอยู่บนเกาะลันตาใหญ่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเข้ารับการบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนบนพื้นที่เกาะลันตาน้อย จากสภาพปัญหาดังกล่าวทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความยากลำบากในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ต้องขนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ปัญหาความล่าช้าในการเดินทาง ทำให้ผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตระหว่างทาง
"การก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย-เกาะลันตาใหญ่ จำเป็นต้องใช้พื้นที่ป่าชายเลนบางส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" นายศุภชัย กล่าว
โดยพื้นที่แนวสายทางโครงการฯ ส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่แนวถนนเดิม/พื้นที่ท่าเทียบแพขนานยนต์เดิม ส่วนบริเวณสองข้างทางถนนและท่าเทียบแพขนานยนต์เป็นป่าชายเลนที่มีสภาพเสื่อมโทรม โดยพื้นที่ก่อสร้างแนวสายทางโครงการฯ มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด 23.87 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ก่อสร้างแนวสายทางโครงการฯ ที่ซ้อนทับอยู่ในเขตพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีและป่าสงวนแห่งชาติป่าหลังสอดและป่าควนบากันเกาะ (ป่า C) ประมาณ 14.19 ไร่, พื้นที่ก่อสร้างแนวสายทางโครงการฯ บริเวณจุดเริ่มต้นฝั่งเกาะลันตาใหญ่ ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีและป่าสงวนแห่งชาติ ประมาณ 4.7 ไร่ และพื้นที่ก่อสร้างแนวสายทางโครงการฯ ที่อยู่ในคลองลัดบ่อแหน ประมาณ 4.98 ไร่
นอกจากนี้ เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนให้มีความสมบูรณ์ กรมทางหลวงชนบทจะดำเนินการปลูกป่าชายเลนทดแทนเพื่อชดเชยพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการฯ ประมาณ 48 ไร่ (หรือ 2 เท่าของพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ) โดยโอนงบประมาณในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อดำเนินการปลูกป่าชายเลนในบริเวณที่เหมาะสมในพื้นที่ป่าชายเลนบนเกาะลันตาน้อยและเกาะลันตาใหญ่ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าหลังสอดและป่าควนบากันเกาะ