กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วที่ทุกปลายปีจะมีการรวบรวมเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นรอบโลก และประเด็นเรื่องภัยธรรมชาติมักเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ถูกนำมาพูดถึงมากที่สุดในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลกเผชิญกับเหตุภัยพิบัติครั้งรุนแรงหลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงช่วงส่งท้ายปลายศักราช
ในโอกาสนี้ In Focus ขออิงกระแสละครดังถ่ายทอดเรื่องราวภัยพิบัติในฉบับมินิซีรีส์ 10 เรื่อง โดยเริ่มต้นที่พสุธาไร้ปราณี ธรณีพิโรธ ภูเขาไฟเหี้ยมโหด อัคคีโฉดทมิฬ เริงฤทธิ์เพลิงสุริยา วาตภัยคะนองเดช อาเพศแห่งสายนที วารีล้นทลาย อุทกภัยในดวงตา และหิมะหฤโหด สำหรับมินิซีรีส์เกี่ยวกับภัยธรรมชาติในปีนี้จะมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น ขอเชิญทุกท่านติดตามไปพร้อมกันนับตั้งแต่บรรทัดนี้
1. พสุธาไร้ปราณี
แผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์ในเฮติ -- อังเดร เบอร์โต ชาวอเมริกันเชื้อสายเฮติ ดีกรีแชมป์โลกรุ่นเวลเตอร์เวทของสภามวยโลก (ดับเบิลยูบีซี) มิอาจลบภาพความทรงจำอันเลวร้ายจากการสูญเสียญาติพี่น้องในเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงไปได้ เบอร์โตประกาศถอนตัวจากการขึ้นสังเวียนกำปั้นกับคู่ต่อสู้อย่างเชน มอสลีย์ และลงมาต่อสู้กับชะตากรรมในสังเวียนชีวิตจริง ที่ครอบครัวของเขากำลังเผชิญอยู่
ข่าวเศร้าสลดกระทบเข้าโสตประสาทการรับรู้ของอังเดร เบอร์โต เช่นเดียวกับผู้คนทั่วโลกในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 12 มกราคม 2553 เมื่อกรุงปอร์โตแปรงซ์ นครหลวงของเฮติ กลายสภาพราวกับเป็นเมืองหลังสงครามที่พังพินาศย่อยยับจากฤทธิ์ของแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 240 ปี
ท่อนแขนสีคล้ำบนร่างไร้วิญญาณที่เปรอะเปื้อนฝุ่นผงของซากคอนกรีตโผล่พ้นออกมาจากเศษซากปรักหักพังนั้นเป็นเพียงหนึ่งในภาพตัวอย่างของเหยื่อเรือนแสนที่เซ่นชีวิตสังเวยแผ่นดินไหวในประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งซีกโลกตะวันตกแห่งนี้ ธรณีพิบัติครั้งดังกล่าวถูกระบุไว้ว่าเป็น 1 ใน 10 ของเหตุโศกนาฏกรรมทางธรรมชาติซึ่งพรากเอาลมหายใจของมวลมนุษย์ไปมากที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงเกือบ 3 แสนราย ขณะที่จำนวนผู้ทุกข์ระทมจากเหตุการณ์นี้อยู่ที่กว่า 3 ล้านราย
2. ธรณีพิโรธ
แผ่นดินไหว 8.8 ริกเตอร์ในชิลี —มิเชล บาเชเลต์ ประธานาธิบดีหญิงแกร่งแห่งชิลี (ในขณะนั้น) ต้องสลัดอาการตื่นตระหนกตกใจตามวิสัยหญิงส่วนใหญ่ออกไปให้ไกลตัว เมื่อหน้าที่อันใหญ่หลวงในการดูแลด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนที่รอเธออยู่เบื้องหน้า ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้เธอประกาศภาวะฉุกเฉิน พร้อมส่งกำลังทหารนำอาหารแจกจ่ายและดูแลความสงบเรียบร้อยในเมืองกอนเซปซีออน ด้วยหวั่นใจว่า เหตุปล้นสะดมจะกระหน่ำซ้ำเติมความรู้สึกสูญเสียของผู้ประสบภัยให้ยิ่งเลวร้ายมากไปกว่าเดิม
หลังจากที่ทั่วโลกเพิ่งอกสั่นขวัญแขวนจากเหตุแผ่นดินไหวในเฮติไปได้ไม่นาน เช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 บริเวณชายฝั่งทางตะวันตกของชิลีได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างจากกรุงซานติอาโก เมืองหลวงของชิลีประมาณ 340 กิโลเมตร แถมท้ายด้วยอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีกหลายครั้ง
แผ่นดินไหวในชิลีที่ถูกขนานนามว่ามีความรุนแรงมากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 นับตั้งแต่มีการจดบันทึกไว้นั้นกลายจะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปถนัดตา เมื่อเทียบกับการเปิดเผยข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ของห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดันขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (นาซ่า) ที่ว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้ทำให้แกนโลกขยับไปจากเดิมถึง 8 เซนติเมตร อันจะส่งผลให้ช่วงเวลายามราตรีกาลหดสั้นลง 1.26 ไมโครวินาที หรือ 1 ในล้านวินาที
3. ภูเขาไฟเหี้ยมโหด
ภูเขาไฟระเบิดในไอซ์แลนด์ — ผู้โดยสารที่ชีพจรลงเท้าแสดงท่าทีงุ่นง่านรำคาญใจ ขณะที่ผู้บริหารตำแหน่งใหญ่โตต้องเสียเวลาอันมีค่าไปกับการตกค้างที่สนามบิน ส่วนภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องชะเง้อคอรอสินค้ามาเติมเต็มในสต็อกไม่ว่าจะเป็นดอกไม้สดจากเนเธอร์แลนด์ ปลาแซลมอนรสเลิศจากนอร์เวย์ หรือกระทั่งเนยแข็งจากฝรั่งเศส ทว่าตัวอย่างที่เกริ่นมาในย่อหน้านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของผลกระทบจากความเสียหายด้านการขนส่งทางอากาศ อันเนื่องมาจากเหตุภูเขาไฟระเบิดในไอซ์แลนด์
วันที่ 14 เมษายน 2553 ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูล (Eyjafjallajokull) ที่เย็บเฉียบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไอซ์แลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ในแนวแผ่นดินไหวของมหาสมุทรแอตแลนติกตอนกลางได้ฤกษ์ตื่นขึ้นจากห้วงนิทรา พ่นลาวาเถ้าถ่านบดบังท้องฟ้าในยุโรปจนมืดมิด หลังจากที่หลับไหลแน่นิ่งอยู่ในความสงบเงียบงันมานานเกือบ 200 ปี ส่งผลให้ทางการไอซ์แลนด์ต้องอพยพประชาชนราว 600 คนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงออกนอกพื้นที่เพื่อความปลอดภัย
หนึ่งในข้อมูลที่น่าตระหนกตกใจ คือ รายงานที่ระบุว่า ความเสียหายของอุตสาหกรรมการบินจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้เลวร้ายยิ่งกว่าเหตุวินาศกรรม 911 ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีเที่ยวบินถูกยกเลิกไปทั้งสิ้น 95,000 เที่ยว โดยที่สนามบินในยุโรป 313 แห่งกลายเป็นอัมพาต ซึ่งเทียบเท่ากับ 80% ของเครือข่ายการบินในยุโรป ขณะที่ผู้โดยสารเกือบ 7 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปตกค้างตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก
4. อัคคีโฉดทมิฬ
ภูเขาไฟเมราปีระเบิดในอินโดนีเซีย - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ กล้าท้าทายความโหดร้ายของธรรมชาติ หลังผู้นำแห่งชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกยืนยันกำหนดการเดินทางเยือนอินโดนีเซียในวันที่ 9 พฤศจิกายนไว้ตามปกติ ทั้งๆ ที่ภูเขาไฟเมราปีเพิ่งจะพ่นเถ้าถ่านและความร้อนบดบังน่านฟ้าในแดนอิเหนาได้เพียงไม่กี่วันก่อนหน้า
นับตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมเป็นต้นมา ภูเขาไฟเมราปีเริ่มปะทุเถ้าถ่านและเกิดการระเบิดครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1870 ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนในวันเดียวไปเกือบ 80 ราย ขณะที่สำนักงานควบคุมภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซียได้การสั่งอพยพผู้คนที่อาศัยอยู่ในรัศมีของภูเขาไฟกว่า 200,000 คน และแน่นอนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบให้สายการบินหลายแห่งระงับการให้บริการไม่ต่างจากเหตุภูเขาไฟระเบิดในไอซ์แลนด์
5. เริงฤทธิ์เพลิงสุริยา
คลื่นความร้อนในรัสเซีย — พระสังฆราชคิรีลแห่งคริสตจักรนิกายออร์โธดอกซ์ทำหน้าที่นำชาวรัสเซียที่กำลังเผชิญความรุ่มร้อนทั้งกายและใจร่วมกันสวดมนต์อธิษฐานเพื่อขอให้หยาดฝนพร่างพรมริดรอนความโหดร้ายของไฟป่าและนำพาความชุ่มชื้นคืนสู่พื้นโลก ในยามที่ดินแดนหมีขาวเผชิญกับวิกฤตคลื่นความร้อนภายใต้อุณหภูมิที่พุ่งขึ้นเฉียด 40 องศาเซลเซียส ทุบสถิติเดิมที่เคยร้อนสุด 36.8 องศาเซลเซียสในเดือนกรกฎาคม 2463 ลงอย่างราบคาบ พร้อมขึ้นครองสถิติที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 130 ปี
รัฐบาลรัสเซียประกาศภาวะฉุกเฉินใน 16 พื้นที่ที่คลื่นความร้อนกระจายตัวเผาผลาญพืชผลด้านการเกษตรจนแห้งเหี่ยวเฉาตาย ขณะที่กระทรวงฉุกเฉินของรัสเซียรายงานจำนวนผู้เคราะห์ร้ายที่หนีร้อนไปพึ่งเย็น แต่กลับต้องจมน้ำตายด้วยยอดผู้เสียชีวิตที่สูงถึง 70 รายภายในวันเดียว
6. วาตภัยคะนองเดช
ไต้ฝุ่นเมกี — บรรดากระดูกสันหลังของชาติที่ทนหลังขดหลังแข็งคงจะไม่ต้องหลังแอ่นไปมากกว่านี้ หากผลผลิตข้าวที่เสียหายย่อยยับไม่ใช่ผลลัพธ์จากการกรำงานหนักตลอดฤดูทำนา ทว่าซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมกีกลับเล่นตลกกับโชคชะตาของเกษตรกรในยามที่ต้นข้าวรวงสวยอวบอัดรอวันเก็บเกี่ยวช่วงปลายฝนต้นหนาว กลับล้มระนาวอย่างย่อยยับไปในพริบตาจากพายุร้ายที่ถูกขนานนามว่า "ซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมกี"
วันที่ 18 ตุลาคม 2553 ซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมกีได้พัดถล่มทำลายผลผลิตทางการเกษตรในฟิลิปปินส์ ด้วยความเร็วลมที่จุดศูนย์กลางซึ่งวัดได้เกือบ 300 กม./ชม. ส่งผลให้นาข้าวในฟิลิปปินส์เกิดความเสียหายราว 404,827 เฮคเตอร์ คิดเป็นมูลค่าราว 185.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์ตั้งความหวังไว้ว่าประเทศจะสามารถผลิตข้าวได้ราว 17.2 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งในจำนวนนี้จะถูกป้อนเข้าปากตลาดโลกประมาณ 1.5 ล้านตัน
ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ไต้ฝุ่นเมกีลูกนี้ถือเป็นพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่พายุ "ทุเรียน" พัดกระหน่ำฟิลิปปินส์เมื่อปี 2549 ส่วนเว็บไซต์พยากรณ์อากาศ Accuweather รายงานว่า พายุลูกนี้จะเป็นพายุไซโคลนที่มีระดับความรุนแรงสูงสุดที่ก่อตัวขึ้นในปีนี้
7. อาเพศแห่งสายนที
โขงแล้ง แห้งขอด — บรรดาพ่อแก่แม่เฒ่าที่ตั้งรกรากอยู่ในชุมชนริมแม่น้ำโขงคงอดแปลกใจไม่ได้ที่เห็นว่า ระดับน้ำโขงในปีนี้แห้งขอดเสียจนกระทั่งประชาชนสองฝั่งแม่น้ำโขงเดินข้ามไปมาหาสู่กันได้โดยไม่ต้องพายเรือให้เมื่อยแขน ทั้งๆ ที่อดีตแม่น้ำโขงสายนี้ถือเป็นสายนทีแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงอุ้มชูผู้คนมากที่สุดสายหนึ่งของโลก
แม่น้ำโขงซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาสูงของทิเบตรอนแรมไกลไหลผ่านจีน พม่า ไทย ลาว เขมร ก่อนจะลงสู่ท้องทะเลที่ประเทศเวียดนามด้วยความยาวเป็นระยะทาง 4,800 กิโลเมตรนั้น เผชิญกับภาวะแล้งจัดในปีนี้ โดยที่ต้นตอของปัญหาถูกโบ้ยไปที่การสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ของจีนอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่อีกสมมติฐานหนึ่งจะเป็นอะไรไปเสียไม่ได้ถ้าไม่ใช่ผู้ร้ายที่ชื่อว่า "ภาวะโลกร้อน"
อย่างไรก็ดี วิกฤตแม่น้ำโขงแห้งขอดท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนแล้งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (MRC Summit) ครั้งที่ 1 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5-6 เมษายน 2553 ที่อำเภอหัวหิน โดยมีผู้นำทั้ง 4 ชาติได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ลงนามในปฏิญญาหัวหินโดยให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บรรลุการจัดการและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต
8. วารีล้นทลาย
น้ำท่วมในปากีสถาน — คงไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเป็นแน่ที่นิตยสารไทม์จัดให้เหตุการณ์น้ำท่วมในปากีสถานรั้งอันดับ 4 ในการจัดอันดับ 10 ข่าวเด่นต่างประเทศประจำปี 2553 ไปครอง เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน ขณะที่ประชาชนกว่า 20 ล้านคนต้องเผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายในเหตุอุทกภัยที่กินเวลานับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยขึ้นชื่อว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 65 ปี
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ เอดีบี และธนาคารโลกประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปากีสถานว่า เหตุอุทกภัยดังกล่าวทำให้พื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของปากีสถานรวมถึงปศุสัตว์เผชิญความเสียหายร้ายแรงถึง 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางเป็นทุนเดิม
9. อุทกภัยในดวงตา
น้ำท่วมประเทศไทย — คราบน้ำตาแห่งความสูญเสียจากเหตุการณ์น้ำท่วมของชาวบ้านในจังหวัดนครราชสีมาสะท้อนผ่านหน้าจอโทรทัศน์ของชาวไทยแทบทุกหลังคาเรือน ท่ามกลางฉากหลังของโศกนาฏกรรมทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงแห่งดินแดนที่ราบสูง
คุณยายวัย 73 ปีท่านหนึ่งในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งยึดอาชีพทำนาเล่าว่า นาข้าวเกือบ 40 ไร่ที่กำลังออกรวงถูกน้ำท่วมจมมิดเสียหาย ตอนนี้คุณยายอยู่ในสภาพหมดเนื้อหมดตัว หนี้ท่วมหัวเพราะลงทุนไปเต็มกำลัง หวังว่าปลายปีนี้ข้าวจะได้ราคาดี แต่ที่ไหนได้ดันเกิดน้ำท่วมใหญ่ จากนี้ไปยังไม่รู้ว่าจะอยู่กินอย่างไรดี
ภาพจากมุมสูงในจอโทรทัศน์แทบทุกช่องแสดงให้เห็นสภาพบ้านเรือนของชาวจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา และอีกกว่า 20 จังหวัดทั้งภาคอีสานและภาคกลางของประเทศไทยที่กลายสภาพเป็นทะเลสาบน้ำจืด โดยเฉพาะในเขตเทศบาลปักธงชัย อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ถูกบันทึกว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี หลังจากพื้นที่แห่งนี้เจอฝนหลงฤดูตกหนักติดต่อกันในช่วงวันที่ 14-18 ตุลาคม 2553
10. หิมะหฤโหด
พายุหิมะถล่มอังกฤษ — ปิดท้ายภัยพิบัติปลายปีกับบรรดาแฟนลูกหนังในลีกผู้ดีที่ถึงกับทำตัวไม่ถูก เมื่อทราบข่าวว่าโปรแกรมเฝ้าหน้าจอติดขอบสนามของตนเองต้องเป็นหมัน เพราะการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ชิพถูกเลื่อนออกไปถึง 7 คู่ จากฤทธิ์ของพายุหิมะที่พัดกระหน่ำกรุงลอนดอน ก่อนที่เทศกาลคริสมาสต์จะมาเคาะประตูทักทายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
นอกจากนี้ หนึ่งในเหตุการณ์คู่ขนานอีกด้าน คือ ภาพเครื่องบินของสายการบินหลายแห่งต่างจอดสงบนิ่งราวกับไว้อาลัยให้กับหิมะขาวโพลนที่ตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตาตามสนามบินชื่อดังทั้งในกรุงลอนดอน ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต อัมสเตอร์ดัม และบรัสเซลส์ รวมถึงรถไฟความเร็วสูงยูโรสตาร์ ที่ต้องจำกัดความเร็วลงมา ทำให้ระยะเวลาเดินทางล่าช้าออกไปกว่า 1 ชั่วโมง
สำนักพยากรณ์อากาศระบุว่า ฤดูหนาวในอังกฤษปีนี้อาจจัดได้ว่าหนาวที่สุดในรอบ 100 ปี โดยอุณหภูมิที่เมืองนอร์วิชทางภาคตะวันออกของอังกฤษลดต่ำลงในระดับติดลบ 17 องศาเซลเซียส ขณะที่เมืองแกตวิคมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นถึงติดลบ 11 องศาเซลเซียส
ใจดีสู้ (ปี) เสือ (ดุ)
แม้มินิซีรีส์ข้างต้นจะเป็นการถ่ายทอดสิบเรื่องราวของภัยพิบัติเด่นรอบโลกในปีนี้ที่ฉายภาพความโหดร้ายของธรรมชาติ ทว่าในมุมของมนุษยชนนั้นกลับมีเรื่องราวงดงามน่าประทับใจที่ฉายออกมาอย่างแจ่มชัดไม่แพ้กัน และคงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า โศกนาฏกรรมจากธรรมชาติได้สร้างปรากฏการณ์แห่งธารน้ำใจให้เกิดขึ้นอย่างมากมายบนโลกใบนี้
Help for Haiti, Hit for Haiti, Hope for Haiti Now คือสารพัดโครงการระดมทุนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับเหตุการณ์ธรณีพิบัติในเฮติ ขณะที่โซเชียล เน็ตเวิร์กชื่อดังแห่งยุคอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเชิญชวนให้บรรดา friend และ follower ร่วมกันลงขันบริจาคเงินและสิ่งของบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานของสยามประเทศ
...สุดท้ายนี้ In Focus ขออนุญาตใช้พื้นที่เล็กๆ เป็นตัวแทนชาวโลกกล่าวคำ "ขอโทษ" ที่ล่วงเกินธรรมชาติ และ "ขอขอบคุณ" กระแสธารแห่งน้ำใจสำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย อันสะท้อนถึงไมตรีจิตรของญาติมิตรร่วมโลกในปีนี้ และหวังว่าทุกท่านจะคอยย้ำเตือนตัวเองในฐานะสิ่งมีชีวิตเล็กๆ หนึ่งหน่วยในจักรวาล ให้ตระหนักถึงการพึ่งพาธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยในปีต่อๆ ไป เพื่อที่มนุษย์และธรรมชาติจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องทำร้ายซึ่งกันและกัน...