นางพรทิพย์ ปั่นเจริญ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงกรณีมีข่าวลือเรื่องการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในทะเลฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันว่า จากการทดลองศึกษาและจัดทำแบบจำลองการเกิดสึนามิในบริเวณอ่าวไทย มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวบนบกของประเทศไทยขนาดใหญ่ที่สุดจะมีขนาดไม่เกิน 7 ริกเตอร์ เฉพาะในพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของไทย
สาเหตุที่พื้นที่บริเวณราบลุ่มภาคกลาง มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ระยะไกล เนื่องจากลักษณะตะกอนของที่ราบลุ่มภาคกลาง (กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง) เกิดจากการทับถมและสะสมตัวที่เกิดจากการกระทำของแม่น้ำ โดยพื้นที่ในบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่าชั้นตะกอนแบ่งออกได้เป็น 2 ชั้น ชั้นบนเป็นชั้นดินอ่อน มีความหนาตั้งแต่ 5-25 เมตร ส่วนชั้นล่างเป็นชั้นตะกอนแข็งมีความหนาเฉลี่ย 1,000 เมตร ลักษณะของตะกอนเหล่านี้ จะก่อให้เกิดการขยายตัวของคลื่นแผ่นดินไหว ซึ่งอาจทำให้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรธรณีได้ทดลองศึกษา และทำแบบจำลองการเกิดสึนามิในบริเวณอ่าวไทย โดยสมมุติเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวในฝั่งทะเลอ่าวไทย ความรุนแรง 8.5 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ฝั่งทะเลจีนใต้ หรือทางทิศตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ คลื่นยักษ์สึนามิ จะเดินทางเข้ากระทบฝั่งบริเวณภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส) โดยใช้เวลา 9 ชั่วโมง และบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาใช้เวลานานถึง 16 ชั่วโมง)
แต่หากจุดศูนย์กลาง ขนาด 8.0 ริกเตอร์ เกิดขึ้นบริเวณตอนเหนือของหมู่เกาะนิโครบาร์ หมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดีย จะเข้ากระทบฝั่งทะเลอันดามัน (จังหวัดภูเก็ต) ใช้เวลา 2 ชั่วโมงโดยประมาณ ซึ่งขณะนี้ทุ่นเตือนภัยสึนามิ ที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ติดตั้งแล้วเสร็จ รวม 3 เครื่อง (มหาสมุทรอินเดีย 1 เครื่อง และทะเล อันดามัน 2 เครื่อง) ซึ่งเครื่องดังกล่าวจะสามารถเตือนภัยได้อย่างทันท่วง
สำหรับผลกระทบต่อพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง หากเกิดแผ่นดินไหว กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการศึกษา พบว่า แผ่นดินไหวบนบกของประเทศไทย สูงสุดที่ตรวจรับได้จากสัญญาณรับคลื่นแผ่นดินไหว มีขนาดใหญ่ที่สุด 5.9 ริกเตอร์ บริเวณรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 ที่ผ่านมา