สรุปยอด 7 วันอันตราย ตาย 358 คน เพิ่มขึ้น 3.17% จ.ตราด ไร้ผู้เสียชีวิต

ข่าวทั่วไป Wednesday January 5, 2011 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 ม.ค.54 ซึ่งเป็นวันที่สุดท้ายของการรณรงค์ในช่วง 7 วันระวังอันตราย พบว่าเกิดอุบัติเหตุ รวม 270 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.20% ส่วนผู้เสียชีวิต 33 คน ลดลงจากปีก่อน 13.16% ผู้บาดเจ็บ 297 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.50%

ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 78.85% ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01- 20.00 น.

สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 15 ครั้ง รองลงมา พิษณุโลก 13 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก กาญจนบุรี และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 3 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 18 คน รองลงมา สมุทรปราการ 16 คน

ส่วนสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (29 ธ.ค.53 — 4 ม.ค.54) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,497 ครั้ง ลดลงจากปีก่อน 1.05% มีผู้เสียชีวิตรวม 358 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.17% มีผู้บาดเจ็บรวม 3,750 คน ลดลงจากปีก่อน 2.01% โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา รองลงมา ขับรถเร็ว พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์

สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ พิษณุโลก เชียงราย จังหวัดละ 122 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี 13 คน รองลงมา ประจวบคีรีขันธ์ 12 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 131 คน รองลงมา พิษณุโลก 127 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตใน 7 วัน คือ ตราด

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 54 เพิ่มสูงจากปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณรถจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2.6 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้เป็นรถจักรยานยนต์กว่า 2 ล้านคัน

จากการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศแยกเป็นรายภาค พบว่า ภาคกลางมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 144 คน รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 88 คน ภาคเหนือ 72 คน ภาคใต้ 54 คน หากเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงถึง 51.72% รองลงมาภาคกลาง 4.35% ในขณะที่ภาคเหนือ ลดลง 11.11% ภาคใต้ ลดลง22.86%

ทั้งนี้ ศปถ.จะได้ประสานจังหวัดโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางให้วิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางในการวางแผนรับมือป้องกันและลดความสูญเสียชีวิตทั้งในช่วงเทศกาลช่วงปกติและในระยะยาวต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ