นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้มีการเก็บภาษีร.ร.กวดวิชาตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้เสนอ พร้อมทั้งมอบให้กระทรวงศึกษาธิการเข้าไปกำกับดูแลอัตราค่าใช้จ่าย รวมถึงกำหนดเพดานค่าเล่าเรียนที่เหมาะสมของสถานศึกษากวดวิชานั้นๆ แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นราคากลางขึ้นมา
"มอบให้กระทรวงศึกษาธิการไปดูเรื่องผลกำไรเกินควร ถ้าเกินควรต้องรีบไปดำเนินการ และถ้ามีเจ้าหน้าที่รัฐผลักดันให้นักเรียนเข้าสู่ร.ร.กวดวิชา ก็ต้องมีความผิด โดยจะให้กระทรวงเข้าไปควบคุมอัตราค่าใช้จ่าย กำหนดเพดานค่าเล่าเรียนที่เหมาะสม แต่คงไม่ใช่เป็นราคากลาง และการเก็บภาษีไม่ได้ถือเป็นการแก้ปัญหา"นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ร.ร.กวดวิชาส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาในลักษณะเช่นนี้ อาจจะมีเพียงบางแห่งเท่านั้น อาจจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือครูอาจารย์เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เด็กเข้าสู่ร.ร.กวดวิชา จึงมอบให้กระทรวงศึกษาธิการไปตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย
ในส่วนของข้อห่วงใยของ ป.ป.ช.เรื่องความปลอดภัยในสถาบันกวดวิชานั้น ยืนยันว่า กระทวงศึกษาธิการได้มีการควบคุมดูแลในส่วนนี้อยู่แล้ว
นพ.มารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ควรมีการจัดเก็บเนื่องจากขัดต่อพ.ร.บ.การศึกษา โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกวดขันดูแลในเรื่องของการจำหน่ายอุปกรณ์การศึกษา เช่น หนังสือ คู่มือ ซีดี รวมถึงกวดขันในเรื่องของการกำหนดในเรื่องค่าเล่าเรียน ที่เป็นการค่ากำไรเกินควร เช่น กำหนดหลักสูตรละ 5000 บาทและต้องเรียน 3 หลักสูตร
รวมทั้งให้ดูแลเรื่องครูสนอพิเศษว่าทำผิดวินัยหรือไม่ กรณีที่ไม่ยอมสอนตามแผนที่กำหนดเอาไว้ และให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยของโรงเรียนกวดวิชาว่าให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร