นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร กรณีการนำวัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์กลิ่นแมงดานามาทำน้ำพริกแมงดา ซึ่งเมื่อรับประทานแล้วมีอาการปวดท้อง และหากสัมผัสโดนผิวหนังจะเกิดอาการผื่นคัน รวมทั้งหยดลงบนกล่องโฟมแล้วสารเคมีจะทำปฏิกริยาละลายโฟมได้
ดังนั้น จึงได้ให้ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าอันตราย ร่วมกับ 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายนักวิชาการ เพื่อผู้บริโภค สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริง พบว่า วัตถุแต่งกลิ่น รส สังเคราะห์แมงดานาที่จำหน่ายในท้องตลาด เป็นสารเคมีสังเคราะห์ขึ้น เพื่อให้เกิด กลิ่น รส ตามต้องการ
จากการสำรวจตลาดและการใช้งานวัตถุสังเคราะห์แต่ง กลิ่น รสชาติอาหาร พบว่า มีวางจำหน่ายอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 วัตถุแต่งกลิ่นรสธรรมชาติ เป็นการนำพืชหรือวัตถุจากธรรมชาติมาสกัด ประเภทที่ 2 วัตถุแต่งกลิ่นรส เลียนธรรมชาติ เป็นการสกัด กลิ่น รส จากพืชหรือวัตถุธรรมชาติโดยวิธีทางเคมี ประเภทที่ 3 วัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์ ซึ่งจากการศึกษาวัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์ "กลิ่นแมงดานา" เกิดจากส่วนผสมสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ โพรพีลินไกลคอล เอทิลอะซีเตท เฮกซิลอะซีเตท ไดเมทิลซัลไฟด์ ซึ่งสารเคมีบางชนิดอาจออกฤทธิ์เป็นอันตรายเฉียบพลัน
ดังนั้น ภายใต้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มอบหมายให้เลขาธิการ สคบ. และคณะกรรมการว่าด้วยฉลากไปพิจารณาออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่ว่าด้วยสินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ ร่างกาย หรือจิตใจ เนื่องในการใช้สินค้า หรือโดยสภาพของสินค้านั้น หรือมีสินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้เป็นประจำ ซึ่งการกำหนดฉลากของสินค้านั้น จะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการที่จะทราบข้อเท็จจริง ในสาระสำคัญเกี่ยวกับ สินค้านั้น แต่สินค้าดังกล่าวไม่เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ให้คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก มีอำนาจกำหนดให้สินค้านั้นเป็นสินค้าทีควบคุมฉลาก โดยจะเร่งรัดให้มีการออกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมฉลากภายใน 30 วัน หลังจากนั้นหากพบว่ามีการฝ่าฝืน ผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้าเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและกรณีที่เป็นผู้จำหน่ายสินค้าที่ควบคุมฉลากแต่ไม่จัดให้มีฉลากหรือมีฉลากที่ไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ สคบ. จะร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายวัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 223 ที่ว่าด้วยวัตถุแต่งกลิ่นรส ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2552 อย่างเคร่งครัด ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สคบ. จะสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าในท้องตลาด โดยเน้นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชน เพื่อเฝ้าระวังและทดสอบพิสูจน์ความไม่ปลอดภัย ซึ่งหากมีความคืบหน้าของผลการทดสอบอย่างไร จะแถลงข่าวให้ประชาชนทราบต่อไป