กรุงเทพมหานคร(กทม.) เตรียมเร่งดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งจัดสร้างเรือนแพให้กับประชาชนราว 30 หลังคาเรือนที่อาศัยอยุ่นอกแนวก่อสร้างเขื่อนซึ่งไม่ต้องการย้ายออกไปอยู่ที่อื่น
"ยังติดปัญหาในเรื่องการย้ายที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่บริเวณนอกแนวก่อสร้างเขื่อน เนื่องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวไม่ต้องการย้ายออก...กทม.จะดำเนินการจัดหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมไว้สำหรับรองรับประชาชนที่ย้ายออกจากบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีประมาณ 30 หลังคาเรือน อีกทั้งจัดทำที่อยู่อาศัยบริเวณนอกแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเป็นเรือนแพ เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้ที่อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบน้ำท่วม" นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
วันนี้ นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ ส.ก.เขตลาดกระบัง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยนายพรเทพ และคณะกรรมการฯ ได้ประชุมติดตามแผนการป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำ โดยมีผู้อำนวยการเขตกลุ่มกรุงเทพกลาง 9 เขต ประกอบด้วย เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตดินแดง เขตห้วยขวาง เขตวังทองหลาง และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม
สำหรับพื้นที่กลุ่มกรุงเทพกลางที่เกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง อาทิ บริเวณท่าวัง ถนนมหาราช เขตพระนคร เนื่องจากอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นพื้นที่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเอ่อท่วมบ้านเรือน อีกทั้งบริเวณถนนสายหลักมักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อเกิดฝนตกหนัก เนื่องจากท่อระบายน้ำหลายแห่งมีขนาดเล็กไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน รวมทั้งบริเวณถนนสายหลักในหลายพื้นที่มีระดับต่ำกว่าผิวถนนทำให้เกิดน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดในหลายพื้นที่อีกด้วย
นายพรเทพ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาและระบบบำบัดน้ำเสียบริเวณนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของ กทม.ได้อีกด้วย ในส่วนของถนนสายหลักที่เกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งนั้น กทม.ได้เร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามโครงการอุโมงค์ยักษ์เพื่อรองรับน้ำให้มากขึ้น อีกทั้งจะเร่งตรวจสอบและแก้ไขระบบระบายน้ำในพื้นที่กลุ่มกรุงเทพกลางทั้งหมด เพื่อให้พร้อมในการใช้ในการงานได้ตลอดอีกด้วย
ขณะที่ นายวิสูตร กล่าวว่า กทม.ต้องวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้ง กทม.ควรจัดเก็บข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมในทุกพื้นที่เพื่อให้ง่ายในการค้นหาข้อมูลและสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขแนวทางการป้องกันน้ำท่วมให้เกิดประสิทธิภาพเร็วยิ่งขึ้น