เอแบคโพลล์ เผยพฤติกรรมปชช.ส่วนใหญ่ยังรับเงินซื้อเสียง ภาคอีสานมากสุด

ข่าวทั่วไป Sunday January 16, 2011 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง พฤติกรรมการรับเงินซื้อเสียง และจุดยืนทางการเมืองของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,604 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 8-15 ม.ค.54 พบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษา 53.2% จะรับเงินซื้อเสียง และ 40.2% ไม่รับ และ 6.6 % ไม่แน่ใจ และพบว่าสัดส่วนผู้ชายของผู้ที่ตั้งใจจะรับเงินซื้อเสียงมากกว่า หญิง

แต่ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อจำแนกประเด็นพฤติกรรมการจะรับเงินซื้อเสียงตาม ระดับรายได้ส่วนตัวของประชาชน พบว่า ผู้มีรายได้น้อยมีจำนวนของผู้ที่ตั้งใจจะรับเงินซื้อเสียงมากกว่า ผู้มีรายได้สูง โดยพบว่า 55.5% เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท , 55% เป็นผู้มีรายได้ 15,001-20,000 บาท ,53.7% เป็นผู้มีรายได้ 5,001-10,000 บาท , 52.8% เป็นผู้มีรายได้ 10,001-15,000 บาท และ 40.5% เป็นผู้มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท

และเมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างออกตามภูมิภาคต่างๆ พบว่า 69.6% ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนของผู้ที่ตั้งใจจะรับเงินซื้อเสียงมากที่สุด รองลง คือ กรุงเทพ ส่วนในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือ 79.5% ระบุมีการซื้อเสียงในชุมชน หมู่บ้านที่ตนพักอาศัยอยู่ ในขณะที่ 20.5% คิดว่าไม่มี และเมื่อจำแนกประชาชนที่คาดการณ์ว่าจะมีการซื้อเสียงในชุมชน หมู่บ้านที่ตนเองพักอาศัยอยู่ ออกตามพื้นที่ พบว่า ประชาชนในเขตเทศบาลและ ไม่เว้นแม้แต่คนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการซื้อเสียงเกิดขึ้นในชุมชน หมู่บ้านของตนเอง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีสัดส่วนน้อยกว่าคนในเขตเทศบาลและคนกรุงเทพมหานครที่เชื่อว่าจะมีการซื้อเสียงเกิดขึ้นในชุมชนหรือหมู่บ้านของตนเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมืองของสาธารณชนในปัจจุบันนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ 61.1% ยังคงเป็นกลุ่มพลังเงียบ ขออยู่ตรงกลาง ไม่อยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในขณะที่ 27.2% สนับสนุนรัฐบาล และ 11.7% ไม่สนับสนุนรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ