สธ.ตั้งเป้าไทยปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี 2563 ตามเป้าหมายของ WHO/OIE

ข่าวทั่วไป Wednesday January 26, 2011 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้หารือร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนงานเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยให้หมดไปภายในปี 2563 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า ตามเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลก(WHO) และองค์การควบคุมโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า 100% ในระดับเขต อำเภอ จังหวัด และหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น

"ในปี 53 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 15 ราย ดังนั้นถ้าใครถูกสุนัขกัดหรือถูกแมวข่วนหรือถูกกัด จะต้องไปพบแพทย์ทันทีและฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งรัฐบาลให้บริการฟรี อย่าปล่อยปละละเลย หรือประมาทอย่างเด็ดขาด เพราะแมวก็มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเหมือนกัน แม้ว่าจะมีในปริมาณสัดส่วนที่ต่ำกว่าสุนัขก็ตาม" นายจุรินทร์ กล่าว

สำหรับเรื่องคุณภาพวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ใช้ฉีดในสัตว์ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รณรงค์ชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องวิธีการเก็บรักษา และการจำหน่ายวัคซีนที่ได้คุณภาพมาตรฐานในแหล่งที่จำหน่ายวัคซีนที่ใช้ในสุนัขแหล่งใหญ่ รวมทั้งที่สวนจตุจักร ในส่วนของสุนัขจรจัด เป็นหน้าที่ของส่วนราชการหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่จะเข้าไปดูแล ส่วนสุนัขที่เลี้ยงตามบ้านก็อย่าประมาท ผู้เลี้ยงจะต้องดูแล และฉีดวัคซีนให้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้า

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสาธารณสุขเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งมีเกณฑ์สำคัญที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่สาธารณสุขเพื่อการท่องเที่ยวได้นั้นจะต้องปลอดจาก 6 โรค คือ พิษสุนัขบ้า มาเลเรีย ลีเจียนแนร์ อหิวาตกโรค โรคซาร์ส และไข้หวัดนก ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้านั้นนักท่องเที่ยวกลัวมาก หากจะประกาศพื้นที่ใดเป็นพื้นที่สาธารณสุขเพื่อการท่องเที่ยวได้ อย่างน้อยต้องปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้ามาแล้ว 2 ปี รวมถึงเกณฑ์อื่นๆ เช่น เกณฑ์ด้านสุขอนามัย ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ตลาดสด เป็นต้น จะต้องได้มาตรฐานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยพบว่าในประเทศไทยมีจังหวัดที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้ามาแล้ว 2 ปีต่อเนื่องอย่างน้อย 36 จังหวัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ