ทั้งนี้ หากพบนก เป็ด ไก่ มีอาการเซื่องซึมผิดปกติ ขนยุ่ง หงอนบวม หรือตายผิดปกติ ขอให้สงสัยโรคไข้หวัดนกไว้ก่อน และให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.เพื่อนำไปตรวจและทำลายอย่างถูกวิธี อย่านำซากสัตว์ปีกไปทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด
และ แม้ว่าจะไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในไทยมานานกว่า 4 ปี อีกทั้งไม่มีสัตว์ปีกป่วยตายจากโรคนี้มากว่า 2 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ควรวางใจ เนื่องจากปัจจุบันยังพบการระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศ จึงมีความเสี่ยงที่โรคนี้หวนกลับมาระบาดซ้ำในประเทศไทยได้อีก
ด้าน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ หรือมีอาการเจ็บป่วยหลังสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย อาการที่สำคัญคือ มีไข้สูง ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก อาจมีอาเจียน ท้องเสียด้วย ต้องรีบไปโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาเร็วที่สุดหรืออย่างช้าภายใน 2 วันหลังมีอาการป่วย โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ รักษาโรคไข้หวัดนกไว้ในโรงพยาบาลทุกแห่งและใช้ได้ผลดี รวมทั้งได้มีการฝึกอบรมแพทย์พยาบาลในการดูแลผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่ปี 2546 จนถึง 20 มกราคม 2554 มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อใน 15 ประเทศ ทั้งหมด 518 ราย เสียชีวิต 306 ราย ในปี 2554 มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ 2 ราย จากประเทศอียิปต์ ไม่มีผู้เสียชีวิต