นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดดำเนินการให้สอดคล้องกับวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหาร ด้วย 4 มาตรการ คือ การจัดทำยุทธศาสตร์ของสินค้าเกษตรทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยเน้นการวิจัยในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งครอบคลุมในทุกรายสินค้าที่เป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ แม้ว่ายังประสบปัญหาในด้านงบประมาณที่ส่งผลทำให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายมากนัก
มาตรการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าเกษตรที่ในประเทศผลิตได้ไม่เพียงพอ แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ และที่สำคัญคือไม่กระทบต่อเกษตรกรภายในประเทศ
การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เช่น ความร่วมมือในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา- แม่โขง (ACMECS) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม และการจัดตั้งระบบสำรองข้าวฉุกเฉินของประเทศอาเซียน+3 อย่างถาวรภายในปี 2553 เป็นต้น
และมาตรการสุดท้าย คือ การสร้างเสถียรภาพทางด้านอาหาร โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรในภาพรวม ทั้งในเรื่องการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทั้งจากภัยธรรมชาติ และภัยจากศัตรูพืชระบาด การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และการสร้างระบบการประกันความเสี่ยงผลผลิตสินค้าเกษตร โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่และมีรายได้ที่สูงขึ้น เพื่อป้องกันการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชชนิดอื่น ทั้งพืชพลังงานและพืชอาหารสัตว์ในสัดส่วนที่ไม่สมดุล ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรผลิตอาหารได้เพียงพอและมีคุณภาพควบคู่ไปกับการสนับสนุนของภาครัฐในด้านโครงสร้างการผลิตในภาพรวมของประเทศแล้ว ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องสนับสนุนและดูแลเกษตรกรรายย่อยในด้านการตลาดโดยการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยอย่างต่อเนื่องและราคาที่เป็นธรรมด้วยเช่นกัน
"ความมั่นคงทางด้านอาหารในปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญและมีความตื่นตัวอย่างมาก แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอทั้งต่อบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออก"รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว