ก.เกษตรฯ ร่างกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหารเกษตร รองรับวิกฤตขาดแคลน

ข่าวทั่วไป Tuesday February 8, 2011 10:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดทำแผนเพื่อการบริหารความมั่นคงทางด้านอาหาร ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการจัดทำแผนเพื่อการบริหารความมั่นคงทางด้านอาหารของกระทรวงฯ ตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทยให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร

ประเด็นสำคัญที่นำมาหารือเพื่อกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ฯ คือ พื้นที่ทางการเกษตรที่ใช้ผลิตอาหารมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากปัจจุบันถูกบุกรุกเพิ่มมากขึ้น เช่น บางพื้นที่ในภาคกลาง แม้มีการจัดระบบชลประทาน แต่ก็ยังมีการก่อสร้างเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ในขณะที่ประชากรเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ความต้องการในการบริโภคอาหารเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น จึงควรสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อรักษาคุณภาพสินค้าและอาหารให้ได้นานที่สุด เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำร่างกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหารฯ ไปศึกษาเพื่อเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงร่างกรอบยุทธศาสตร์ฯ ให้เกิดความเหมาะสมต่อไป

"ปัจจุบันพื้นที่ทางการเกษตรที่ใช้ผลิตอาหารมีอยู่ค่อนข้างจำกัด จึงควรจัดหาพื้นที่ให้เกษตรกร ส่วนพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัย หรือการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมต้องไม่บุกรุกพื้นที่ทางการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหาร เพราะขณะนี้ไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า อาหารมีเพียงพอกับความต้องการของประชากรในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และโรคแมลงต่างๆ ที่สร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรกรรม จึงควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย รวมทั้งการสำรองอาหารไว้ในยามขาดแคลนด้วย"นายเฉลิมพร กล่าว

การจัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร สืบเนื่องมาจากสถานการณ์วิกฤตอาหารของโลก ซึ่งเกิดจากผลผลิตทางการเกษตรลดลง ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรและอาหารสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จึงได้ประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการจัดการกับวิกฤตอาหารและพลังงานของโลก และได้จัดทำปฏิญญาว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้แถลงให้การสนับสนุนและเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทยเป็นไปตามกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 ประกอบกับมติคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 จึงได้แต่งตั้งให้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนเพื่อการบริหารความมั่นคงทางด้านอาหารดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ