นายประกิจ พลเดช ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหารถยนต์โดยสารสาธารณะ(รถตู้) กล่าวว่า หลังประชุมคณะกรรมการฯ แล้วได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การกำหนดสถานีจอดรถให้มีจุดรับส่งผู้โดยสารที่ชัดเจน โดยเบื้องต้นจะกำหนดให้จอดรถตามตามแนวเส้นทาง เช่น ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนืออยู่บริเวณจตุจักร ภาคตะวันออกอยู่ที่สถานีเอกมัย ภาคใต้และตะวันตกอยู่สถานีขนส่งสายใต้เก่า 2.กำหนดกฎระเบียบ เพื่อใช้กำกับดูแลให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่งจะมีบทลงโทษตั้งแต่ตักเตือน ปรับ จับ และยกเลิกสัญญาเดินรถ และ 3.การดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ปัจจุบันมีรถตู้โดยสารที่จะต้องจัดระเบียบรวม 9,264 คัน แบ่งเป็น รถตู้โดยสารร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จำนวน 5,788 คัน และรถตู้โดยสารร่วมบริการบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) หรือรถตู้ระหว่างจังหวัด จำนวน 3,476 คัน
นายประกิจ กล่าวว่า ในขั้นตอนแรกจะเน้นเรื่องจุดรับส่งผู้โดยสารก่อน เพราะกระทบต่อปัญหาการจราจรค่อนข้างมาก เนื่องจากมีรถตู้โดยสารจอดบนผิวจราจร โดยเฉพาะที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีรถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดจอดรับส่งผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก โดยตั้งเป้าไม่ให้มีรถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดไปจอดที่อนุสาวรีย์ฯ เลย
นอกจากนั้นจะไม่ให้รถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดรับส่งผู้โดยสารระหว่างทาง เพราะตามสัญญาเดินรถกำหนดให้รับส่งผู้โดยสารเฉพาะจุดต้นทางและปลายทางเท่านั้น แต่พบว่ารถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดรับส่งผู้โดยสารระหว่างทางด้วย
ส่วนรถตู้โดยสารร่วมบริการ ขสมก. ซึ่งให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น ในสัญญาเดินรถไม่ได้กำหนดเรื่องการแวะรับส่งผู้โดยสารระหว่างทางจึงไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็จะพยายามกำหนดจุดจอดที่ชัดเจน รวมทั้งจะให้มีการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดและรถตู้โดยสารร่วมบริการ ขสมก. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน และหลังจากจัดระเบียบรถตู้โดยสารแล้วจะได้เร่งรัดการปราบปรามรถตู้เถื่อนด้วย