In Focusธรณีพิโรธแดนกีวี ไม่มีปาฏิหาริย์ซ้ำสอง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 2, 2011 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วงเช้ามืดของวันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2553 ตามเวลาท้องถิ่นนิวซีแลนด์ เกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.0 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางห่างจากเมืองไครสต์เชิร์ช ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 30 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดิน 16 กิโลเมตร และยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ไฟฟ้าดับ โทรศัพท์ถูกตัดขาด ระบบประปาและระบบระบายน้ำได้รับความเสียหาย อาคารบ้านเรือนจำนวนมากพังถล่ม ประชาชนราว 340,000 คนต้องอกสั่นขวัญแขวน และหลายพันคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ขณะที่โรงเรียน ร้านค้า และหน่วยงานราชการต้องปิดทำการ

อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นตามมาเรื่อยๆอีกหลายครั้ง ทำให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองไครสต์เชิร์ช และขยายประกาศภาวะฉุกเฉินถึง 2 ครั้งเนื่องจากเกิดอาฟเตอร์ช็อกไม่หยุด กว่าจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ก็ล่วงเข้าสู่วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน หรือเกือบ 2 สัปดาห์ต่อมา

แผ่นดินไหวดังกล่าวมีความรุนแรงเทียบเท่ากับแผ่นดินไหวที่เกิดในเฮติ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคนเมื่อช่วงต้นปี 2553 และเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดสำหรับประเทศนิวซีแลนด์นับตั้งแต่ปี 2474 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหว 7.8 ริกเตอร์ที่เมืองเนเปียร์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 256 คน แต่สิ่งที่เหลือเชื่อคือ ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเลยแม้แต่คนเดียว มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 คน และบาดเจ็บเล็กน้อยราว 100 คน ที่สำคัญคนไทยราว 500 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาประมาณ 100 คน ที่อาศัยอยู่ในเมืองไครสต์เชิร์ชในตอนนั้น ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

หลายคนเชื่อว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปีที่แล้วไม่กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เพราะนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรับมือแผ่นดินไหวดีที่สุดในโลก เนื่องจากประเทศนิวซีแลนด์ตั้งคร่อมระหว่างแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกและอินโด-ออสเตรเลีย ทำให้แต่ละปีเกิดแรงสั่นสะเทือนนับหมื่นครั้ง จึงต้องมีการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ และโชคดีที่แผ่นดินไหวครั้งนั้นเกิดขึ้นในเวลาเช้าตรู่ซึ่งผู้คนส่วนมากกำลังนอนหลับพักผ่อนอยู่ในอาคารบ้านเรือนที่มีโครงสร้างค่อนข้างปลอดภัย ขณะที่หลายคนเชื่อว่าเมืองนี้ไปรับการคุ้มครองจากพระผู้เป็นเจ้า ดูได้จากชื่อเมืองที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง

หากเหตุการณ์เมื่อเดือนกันยายนถือเป็นปาฏิหาริย์ บัดนี้ชาวนิวซีแลนด์และชาวโลกได้ตระหนักแล้วว่า อาจไม่มีปาฏิหาริย์ซ้ำสองสำหรับไครสต์เชิร์ช

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 หรือไม่ถึง 6 เดือนนับจากเหตุแผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์ ชาวเมืองไครสต์เชิร์ชก็ต้องผวาอีกครั้ง เมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 6.3 ริกเตอร์ในเวลา 12.51 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยศูนย์กลางห่างจากเมืองไครสต์เชิร์ชไปเพียง 5 กิโลเมตร ที่ความลึกเพียง 4 กิโลเมตร

เช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว แรงสั่นสะเทือนมหาศาลทำให้อาคารบ้านเรือนพังถล่มและสาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย ไฟฟ้าดับเกือบทั้งเมือง ประชาชนขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคและบริโภค แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินมีความรุนแรงกว่าครั้งที่แล้วมาก หลายคนคงสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะระดับความรุนแรงเป็นริกเตอร์ของแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดมีระดับต่ำกว่าครั้งที่แล้ว

เหตุผลที่อธิบายได้คือ แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดมีจุดศูนย์กลางใกล้กับไครสต์เชิร์ชมากกว่าครั้งที่แล้ว และลึกลงไปเพียง 4 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าตื้นมาก ทำให้ความรุนแรงเทียบเท่าได้กับแผ่นดินไหว 8 ริกเตอร์เลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีอาฟเตอร์ช็อกความรุนแรงเท่าๆกันตามมาอีกกว่าสิบครั้ง จนแม้อาคารบ้านเรือนที่ถูกออกแบบมาให้รองรับแผ่นดินไหวยังไม่สามารถทานทนได้ และพังถล่มลงมาทับร่างผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมาก

นอกจากนั้นเวลาที่เกิดเหตุยังเป็นปัจจัยสำคัญ โดยในครั้งที่แล้วเหตุเกิดช่วงเช้าตรู่ ตามถนนหนทางและสถานที่ต่างๆจึงไม่มีผู้คนพลุกพล่าน แต่ในครั้งนี้เหตุเกิดประมาณเที่ยง มีผู้คนเดินทางสัญจรไปมา ผู้ขับขี่ที่ถูกอาคารถล่มทับจึงมีไม่น้อย ขณะเดียวกันในอาคารใหญ่ๆก็มีผู้คนจำนวนมากที่กำลังทำงานหรือเรียนหนังสือ เมื่ออาคารเหล่านั้นพังถล่มจึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตพร้อมกันจำนวนมาก

จุดที่ได้รับความเสียหายหนักประกอบด้วยโบสถ์ไครสต์เชิร์ช ซึ่งพังทลายลงมาและน่าจะมีผู้เคราะห์ร้ายติดอยู่กว่า 20 คน รวมถึงอาคารไพน์ กูลด์ คอร์เปอเรชั่น หรือ พีจีซี ซึ่งเป็นอาคารที่ใหม่และปลอดภัย แต่ก็ไม่พ้นถล่มลงมาขณะที่มีพนักงานทำงานอยู่กว่า 100 คน และอาคารซีทีวี ซึ่งเป็นอาคารของสถานีโทรทัศน์และมีโรงเรียนสอนภาษา ซึ่งในอาคารนี้มีผู้สูญหายราว 120 คน รวมถึงนักเรียนพยาบาลชาวไทย 6 คนด้วย

ลำดับเหตุการณ์ธรณีพิบัติ
  • วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 6.3 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 12.51 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยศูนย์กลางห่างจากเมืองไครสต์เชิร์ชไปเพียง 5 กิโลเมตร ที่ความลึกเพียง 4 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนมหาศาลทำให้สาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย ไฟฟ้าดับเกือบทั้งเมือง ประชาชนขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคและบริโภค อาคารบ้านเรือนพังถล่ม มีเหยื่อจำนวนมากที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือน และพบผู้เสียชีวิต 65 คน ทางการต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและอพยพประชาชนออกจากเมืองเนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา

นอกจากนั้นรัฐบาลนิวซีแลนด์ยังประกาศเคอร์ฟิวในช่วงกลางคืนเพื่อไม่ให้ประชาชนออกมาเพ่นพ่าน เนื่องจากอาจถูกอาคารที่ไม่มั่นคงถล่มทับได้ และเป็นการป้องกันการก่ออาชญากรรมไปในตัว ขณะที่หลายประเทศซึ่งรวมถึง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐ ได้ส่งทีมกู้ภัยเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่นิวซีแลนด์

  • วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ จนกระทั่งถึงกลางคืนหน่วยกู้ภัยสามารถช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารได้ประมาณ 120 คน แต่น่าสลดใจที่หลายคนต้องถูกตัดแขนหรือขาเพื่อนำตัวออกจากซากตึก ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 75 คน และยังมีผู้สูญหายอย่างน้อย 200 คน ที่สำคัญคือมีคนไทยสูญหายและยังไม่ทราบชะตากรรม 6 คน โดยทั้งหมดเป็นนักเรียนพยาบาล
  • วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ ของนิวซีแลนด์ ออกมายอมรับว่า เป้าหมายหลักของปฏิบัติการในเมืองไครสต์เชิร์ชได้เปลี่ยนไปเป็นการค้นหาร่างผู้เสียชีวิต เพราะตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาไม่พบสัญญาณหรือร่องรอยของผู้รอดชีวิตเลย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 98 คน สูญหายกว่า 226 คน นอกจากนั้นนับตั้งแต่เกิดเหตุวันแรกยังมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นตามมากว่า 100 ครั้ง ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับเจ้าหน้าที่กู้ภัย
  • วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ หน่วยกู้ภัยยังคงพยายามค้นหาผู้รอดชีวิตต่อไปแม้ความหวังเหลือน้อยเต็มที โดยเฉพาะที่อาคารซีทีวี ซึ่งเป็นที่ทำการของสถานีโทรทัศน์และโรงเรียนสอนภาษาซึ่งมีนักเรียนต่างชาติจำนวนมาก ขณะเดียวกันทางประเทศไทยได้รวบรวมข้อมูลและเอกสารเกี่ยวกับนักเรียนพยาบาลไทยทั้ง 6 คนที่สูญหายในอาคารดังกล่าว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนิวซีแลนด์ใช้ยืนยันตัวบุคคล ส่วนยอดผู้เสียชีวิตของวันนี้เพิ่มเป็น 113 คน
  • วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ทางการประกาศว่าพื้นที่หนึ่งในสามใจกลางเมืองไครสต์เชิร์ชจะต้องถูกรื้อถอน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 145 คน และสูญหายอีกกว่า 200 คน
  • วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ ของนิวซีแลนด์ ออกมาวิงวอนให้ประชาคมโลกบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว และแสดงความหวังว่ารายการทอล์คโชว์ในสหรัฐจะช่วยระดมทุนอย่างเมื่อตอนที่เกิดเหตุไฟป่าในออสเตรเลีย ซึ่งระดมเงินช่วยเหลือได้ถึง 396 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในวันนี้เพิ่มเป็น 147 คน
  • วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ คาดการณ์ว่าแผ่นดินไหว 2 ครั้งในนิวซีแลนด์ได้สร้างความเสียหายราว 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตเริ่มรับมอบศพคืนจากทางการเพื่อประกอบพีธีกรรมทางศาสนา

ด้านหัวหน้าชุดพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของไทยที่เดินทางไปนิวซีแลนด์ เผยว่าพบ 1 ศพที่อาจเป็นพยาบาลชาวไทย เนื่องจากเจอบัตรประจำตัวประชาชนระบุชื่อนางสาวหฤทยา เหลืองสุรภีสกุล แต่ยังต้องผ่านการตรวจพิสูจน์เอกลักษ์บุคคลเพื่อยืนยันอย่างเป็นทางการ

  • วันอังคารที่ 1 มีนาคม ครบรอบ 1 สัปดาห์ของธรณีพิบัติภัยครั้งใหญ่ ในเวลา 12.51 น. ซึ่งเป็นเวลาเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ และชาวนิวซีแลนด์ร่วมใจกันยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 2 นาที และมีการลดธงลงครึ่งเสาทั่วประเทศ เพื่อไว้อาลัยให้แก่เหยื่อแผ่นดินไหว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการเพิ่มเป็น 157 คน

ด้านนายบิล อิงลิช รัฐมนตรีคลังนิวซีแลนด์ แสดงความวิตกกังวลว่า เหตุแผ่นดินไหวอาจส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศที่ไม่สู้ดีอยู่แล้วเข้าสู่ภาวะถดถอย

  • วันพุธที่ 2 มีนาคม ชุดตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของไทยที่เดินทางไปเมืองไครสต์เชิร์ช ได้ยืนยันแล้วว่าศพชาวเอเชียที่พบเป็นศพของนางสาวหฤทยา เหลืองสุรภีสกุล นอกจากนั้นยังพบอีกศพที่น่าจะเป็นของพยาบาลคนไทย เนื่องจากร่างดังกล่าวสวมกำไลวัดไทย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 159 คน แต่เจ้าหน้าที่คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตน่าจะสูงถึง 240 คน

สุดท้ายนี้ In Focus ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียทุกท่าน และหวังว่าจะมีปฏิหาริย์เกิดขึ้น...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ