นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การที่ชาวนาออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปรับราคารับประกันรายได้ข้าวเป็น 14,000 บาท/ตันนั้น สาเหตุที่ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เป็นเพราะตอนนี้ชาวนาไทยประสบปัญหาภาระต้นทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าเช่าที่ดินในการทำนา ค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช โดยเฉพาะค่าเช่าที่นา จากเมื่อก่อนค่าเช่าที่นาอยู่ที่ 300-400 บาท/รอบการปลูกข้าว ปัจจุบันกระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 800-1,000 บาท/รอบการปลูกข้าว
นอกจากนี้ ยังประสบกับปัญหาเพลี้ยกระโดดที่ยังมีการระบาดอยู่ ปัญหาข้าววัชพืชที่มาแย่งอาหารของข้าวทำให้เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์ และให้ได้ผลผลิตลดลง
"ปัญหาหลายอย่างมาผนวกกันทำให้ต้นทุนสูง ต้นทุนการผลิตจริงๆน่ะไม่เท่าไหร่ แต่มันไปแพงพวกค่าเช่าที่ ค่าปราบเพลี้ยกระโดด ปราบข้าววัชพืชบ้าง...ไม่ใช่ทั้งหมดที่อยากได้ 14,000 บาท/ตัน อย่างแถวสุโขทัย พิษณุโลก เรียกร้องแค่ 12,000 บาท/ตัน แต่อยุธยา สุพรรณบุรี เรียกร้อง 14,000 บาท/ตัน ผมยังบอกเลยว่าถ้าเรียกร้องที่ 12,000 บาท/ตันก็จบไปแล้ว คือบางครั้งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปให้จบไปก่อนแล้วค่อยมาวางแนวทางกัน เพราะเดี๋ยวก็จะเลือกตั้งใหม่แล้ว และต้องยอมรับว่าสินค้าข้าวเป็นปัญหาการเมือง เวลาส.ส.มาหาเสียงก็มักจะชูนโยบายช่วยเหลือราคาข้าวเป็นหลัก"นายประสิทธิ์ กล่าว
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แม้ปัญหาของข้าวจะมีมากมาย แต่ชาวนาไม่ได้ลดลง การปลูกข้าวไม่ได้ลดลง และยังไม่พบว่าชาวนาเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ราคาดีกว่าเช่น ยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน โดยปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวยังมีจำนวน 60 ล้านไร่เท่าเดิม ปริมาณผลผลิตต่อไร่ ก็ยังอยู่ราวๆ 600-700 กก./ไร่/รอบ
"ถ้าไม่ปัญหาภัยธรรมชาติเข้ามาผลผลิตก็จะอยู่ราวๆ 700-800 กก./ไร่/รอบ แต่ถ้ามีภัยธรรมชาติเข้ามาผลผลิตก็จะลดลงเหลือ 500-600 กก./ไร่/รอบ"