นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จะสามารถเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะรองรับการเลือกตั้งครั้งใหม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ในสัปดาห์หน้า และคาดว่าภายในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อตรา พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งใหม่
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่าตั้งใจจะให้มีการเลือกตั้งก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะหมดวาระ
"แต่ผมตั้งใจจะนำเรื่องนี้ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อที่จะให้มีการยุบสภา ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค...ผมค่อนข้างมั่นใจว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ การแบ่งเขตเลือกตั้งจะเรียบร้อย คือจะไม่เป็นปัญหา ซึ่งเป็นผลจากการคุยกับกกต.วันนี้ อาจจะมีนักการเมืองหรือ ส.ส.ไม่เห็นด้วย แต่ผมได้ตัดสินใจแสดงเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้นว่าเราควรจะมีการเลือกตั้งก่อนที่สภาฯจะครบวาระ และควรเลือกเวลาที่เหมาะสม เพื่อขจัดความไม่ชัดเจน ความอึมครึมออกไป
...ยืนยันสัปดาห์หน้าจะเร่งรัดการพิจารณากฎหมายต่าง ๆ จะดูความก้าวหน้าการทำงานด้านต่าง ๆ และไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.ผมจะนำเรื่องกราบบังคมทูลเพื่อให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ระบุถึงเหตุผลในการตัดสินใจโดยระบุว่าในขณะนี้โดยภาพรวมสภาพเศรษฐกิจมีความมั่นคงขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งยังคงมีอยู่ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลทำมาตลอด 2 ปี คือการรักษาความเป็นนิติรัฐ และมีความตั้งใจที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชนในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ เห็นว่าในขณะนี้ปรากฎการณ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมาเป็นสภาพปัญหาเรื่องของปากท้อง ของแพง ซึ่งตนเองมีความตั้งใจไม่อยากเห็นปัญหาทางด้านการเมืองมาเป็นอุปสรรคในการให้ประเทศเดินหน้า พร้อมทั้งมั่นใจว่าเสียงที่สำคัญที่สุดคือ เสียงของประชาชนที่จะตัดสินใจอนาคตของบ้านเมือง
"ผมต้องการเห็นประเทศเดินหน้า มีคำตอบเพื่อประเชาชนผมไม่ต้องการให้ปัญหาบ้านเมืองมาเป็นอุปสรรค ...เราต้องการเห็นความชัดเจน ซึ่งเสียงประชาชนจะเป็นเสียงที่ชี้อนาคตของชาติบ้านเมือง ผมมั่นใจว่าเสียงที่สำคัญที่สุดต้องดังและมากกว่า"นายกรัฐมนตรี กล่าว
หลังจากนี้รัฐบาลก็จะเดินหน้าในการผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภาตั้งแต่สัปดาห์หน้า โดยจะมีออกบทบัญญัติเฉพาะกาล มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากสามารถทำได้ก็จะพยายามผลักดันกฎหมายตรงนี้ ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้ได้มีการพูดคุยกับทางพรรคร่วมไปบ้างแล้ว ทั้งโดยตรงหรือผ่านเลขาธิการพรรค แต่ก็ยอมรับว่าการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะไม่ถูกใจทุกพรรคการเมืองหรือส.ส.ทุกคน แต่ก็เห็นว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ