นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขจะส่งทีมแพทย์จากโรงพยาบาลราชวิถีไปช่วยที่เมืองเซนได จังหวัดมิยางิ และจังหวัดฟุกุชิมะซึ่งเป็นที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ มีคนไทยอยู่ประมาณ 500-600 คน มีนายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา เป็นหัวหน้าทีม พร้อมนายแพทย์จิรพงษ์ ศุภเสาวภาคย์ ซึ่งเป็นแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และพยาบาล 1 คน คือนายปัญจศิลป์ สมบูรณ์
ทีมดังกล่าวจะเดินทางออกจากประเทศไทยเวลาประมาณ 02.00 น. คืนนี้ ถึงญี่ปุ่นประมาณ 07.00 น.วันพรุ่งนี้ (15 มีนาคม 2554) พร้อมกับผู้แทนสถานทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น ไปยังเมืองเซนได จังหวัดมิยางิ เบื้องต้นจะไปดูแลคนไทยที่นั่นก่อนเป็นเวลา 10 วัน
นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขยังได้สำรองทีมแพทย์อีก 2 ส่วน คือทีมด้านสุขภาพจิต และทีมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ขณะนี้รอการประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศ หากทางการญี่ปุ่นต้องการเพิ่มก็พร้อมที่จะเดินทางทันที โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นศูนย์กลางการประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่น
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการจัดส่งทีมแพทย์ไทยไปวันนี้ วัตถุประสงค์จะส่งไปให้การดูแลคนไทยก่อน พร้อมมีเครื่องมือแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นพื้นฐาน ซึ่งในการทำงานนั้น จะประสานผ่านสถานทูตไทยเพื่อประสานงานกับญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังได้สำรองทีมด้านสุขภาพจิตและทีมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เตรียมพร้อมไว้อีก 17 ทีม โดยวันนี้มอบหมายให้นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ หารือกับกรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์ในการวางแผนให้การดูแลคนไทยที่ขณะนี้พักอยู่ในศูนย์อพยพในจังหวัดมิยางิ และจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด และยังได้จัดเตรียมทีมฟื้นฟู เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังโรคที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยจะหารือกับกรมอนามัยและกรมควบคุมโรควางแผนในรายละเอียดต่อไป ในเบื้องต้นนี้ ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิต