นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้หารือกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยของอาหาร ทั้งบริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เห็นตรงกันว่า ให้ อย. ตรวจเช็ค และเก็บสินค้าของญี่ปุ่นทุกชนิดที่นำเข้ามาระหว่างวันที่ 14 มีนาคม ไปตรวจสอบยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หาสารเคมีปนเปื้อนอย่างละเอียดจนกว่าจะได้รับการยืนยันแน่นอนว่าสินค้าดังกล่าวมีความปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงจะอนุญาตให้นำมาวางจำหน่ายตามปกติ
สืบเนื่องจากปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นเกิดระเบิด และมีการรั่วไหลของสารเคมีเกิดขึ้น แม้หลายฝ่ายจะยืนยันว่าสารเคมีดังกล่าวจะไม่มาถึงเมืองไทย แต่เพื่อความไม่ประมาทก็ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดในสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ทั้งอาหารสด และอาหารแห้ง ที่มีมากมาย
"ไม่ถือเป็นการซ้ำเติมญี่ปุ่นในการสกัดกั้นสินค้าที่เคยนำเข้าตามปกติ แต่เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน กระทรวงสาธารณสุข จึงต้องประกาศตีกรอบการดูแลนำเข้าอาหารทุกชนิดอย่างจริงจัง" รมว.สธ. กล่าว
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขผลกระทบจากสึนามิประเทศญี่ปุ่น ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
ศูนย์ดังกล่าวจะติดตามประเมินสถานการณ์ผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติจากญี่ปุ่นใกล้ชิด และออกมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการแก้ไขปัญหาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือการรักษาพยาบาลทั้งสุขภาพกายและจิตของผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในญี่ปุ่น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์รวมทั้งความพร้อมของประเทศญี่ปุ่นที่จะเปิดให้ทีมแพทย์จากต่างประเทศเข้าไปช่วย ซึ่งในเบื้องต้นได้เตรียมทีมแพทย์ไว้ 21 ทีม ทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต พร้อมเดินทางภายใน 72 ชั่วโมงภายหลังได้รับการประสาน
ส่วนที่ 2 คือ มาตรการเตรียมรับมือการรั่วไหลสารกัมมันตภาพรังสี จากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะระเบิด แม้ว่าขณะนี้รายงานจะยังไม่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทยก็ตาม แต่จะต้องวางมาตรการให้พร้อมไว้ เพื่อดูแลความปลอดภัยประชาชนไทย ให้เกิดความมั่นใจ
กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนดำเนินการ 3 กิจกรรมใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.มาตรการเฝ้าระวังผลกระทบ ซึ่งจะดำเนินการในคน อาหาร และสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ และอากาศ 2.การสื่อสารความเสี่ยงให้กับประชาชนในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันผลกระทบ ซึ่งจะมี 3 กลุ่ม ได้แก่ คนไทยที่อยู่ในญี่ปุ่น คนไทยที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น และคนไทยที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น ซึ่งรวมทั้งการให้คำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนทั่วไป ที่อาจมีความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนก จากการได้รับข่าวสารต่างๆที่เกิดขึ้น ที่สถานบริการสาธารณสุขต่างๆ และ3.การเตรียมความพร้อมในด้านการดูแลรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี