In Focusญี่ปุ่นกับศึกสามเส้า แผ่นดินไหว-สึนามิ-วิกฤตนิวเคลียร์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 16, 2011 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหตุแผ่นดินไหว 9 ริคเตอร์ที่สั่นสะเทือนพื้นที่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่มีความสูงถึง 10 เมตรพัดกระหน่ำเข้าพื้นที่หลายจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ล่าสุด คร่าชีวิตชาวอาทิตย์อุทัยไปเกือบ 4,000 คน และสูญหายอีกเกือบถึง 8,000 คน

ภัยพิบัติครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนไม่สามารถป้องกันได้ โดยนอกเหนือไปจากทำเลที่ตั้งของประเทศญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ หรือ Ring of Fire ซึ่งเป็นรอยแยกของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรแปซิฟิก มีลักษณะโค้งเป็นรูปตัวยูกลับหัวยาวประมาณ 40,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลกแล้ว อีกสาเหตุที่ทำให้ภัยพิบัติครั้งนี้รุนแรงอย่างใหญ่หลวง เนื่องมาจากคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นในลักษณะที่กระจายกันหลายจุด และไม่ได้เกิดขึ้นที่บริเวณศูนย์กลางของแผ่นดินไหว โดยแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ที่เกิดขึ้นในจุดต่างๆทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีการออกแบบมาเพื่อรองรับคลื่นยักษ์ใช้ไม่ได้ผล

นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ว่า สาหัสที่สุดนับตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลพวงที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงครั้งนี้ยังทำให้เกิดวิกฤตด้านพลังงานและนิวเคลียร์ตามมา บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (TEPCO) ซึ่งดูแลโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต้องดูแลเตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้าที่จ.ฟูกุชิม่ากันอย่างโกลาหล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุระเบิดและการรั่วไหลของกัมมันตรังสี

ญี่ปุ่นต้องรับมือกับศึกหนักจากวิกฤตนิวเคลียร์และพลังงาน เนื่องจากญี่ปุ่นต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ การที่เตาปฏิกรณ์หลายตัวในประเทศได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวนั้น ทำให้บริษัทเทปโกต้องระงับการจ่ายไฟบางพื้นที่และเป็นบางเวลา

เป็นครั้งแรกที่บริษัทเทปโกต้องปรับมาตรการในการจ่ายไฟในพื้นที่กรุงโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง ด้วยการงดจ่ายไฟฟ้าในบางพื้นที่บริการ เป็นเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ขณะที่รัฐบาลได้ขอร้องให้ประชาชนประหยัดไฟหลังจากที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดจนไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ ยังได้มีการแบ่งพื้นที่กรุงโตเกียวและจังหวัดอื่นๆอีก 8 จังหวัดออกเป็น 5 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้เป็นเวลา 3-6 ชั่วโมง หมุนเวียนกันไปในช่วงต้นสัปดาห์

วิกฤตนิวเคลียร์และกัมมันตรังสีรั่วไหล

วิกฤตนิวเคลียร์เป็นความท้าทายใหญ่หลวงที่ญี่ปุ่นต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงมากไปกว่านี้ หลังจากที่เกิดระเบิดขึ้นที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลายตัวที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในจ.ฟูกุชิม่า และมีกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาจนทำให้ญี่ปุ่นต้องสั่งการให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตรของโรงงานอพยพออกจากพื้นที่

ขณะที่นานาประเทศได้พากันอพยพประชาชนออกจากญี่ปุ่น เพราะเกรงว่าจะมีกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาจนแพร่กระจายไปหลายพื้นที่ โดยเฉพาะฝรั่งเศสนั้นได้สั่งการให้สายการบินแอร์ฟรานซ์เพิ่มเที่ยวบินแก่ชาวฝรั่งเศสในญี่ปุ่นเพื่ออำนวยความสะดวกในการอพยพประชาชนออกจากประเทศ และแนะนำให้ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในญี่ปุ่นเดินทางกลับประเทศหรืออพยพโยกย้ายไปยังหมู่เกาะทางภาคใต้ของญี่ปุ่น ยกเว้นผู้ที่จำเป็นต้องอยู่ในกรุงโตเกียว หลายประเทศอีกเช่นกันที่ได้นำมาตรการตรวจสอบกัมมันตรังสีจากสินค้าที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาใช้

ส่วนประเทศที่มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในประเทศต่างก็หันมาตรวจสอบความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น เกาหลีใต้ ซึ่งมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 21 ตัวและผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 40% ของประเทศนั้น ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้สั่งให้นายลี จู โฮ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์เดินทางไปยังเมืองโกรี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 5 ตัว เพื่อประเมินถึงความพร้อมในการรับมือกับภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ หลังจากที่เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงได้ทำให้เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น

ทางด้านสหภาพยุโรป (อียู) ก็เตรียมทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 143 แห่งในกลุ่มประเทศสมาชิกเช่นกัน นายกึนเธอร์ เอททิงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านพลังงานของรัฐสภายุโรป เปิดเผยว่า อียูจะทดสอบภาวะวิกฤตที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 143 แห่งใน 14 ประเทศสมาชิก เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย ส่วนการตัดสินใจปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือการสั่งระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคตนั้น จะขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของรัฐบาลและประชาชนในประเทศสมาชิกอียู

การทดสอบดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการประเมินความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายหลังจากแผ่นดินไหว และประเมินระดับน้ำในระบบหล่อเย็นที่เตาปฏิกรณ์ โดยการทดสอบภาวะวิกฤตโรงงไฟฟ้านิวเคลียร์จะดำเนินการภายในปีนี้ นอกจากนี้ นายเอททิงเกอร์กล่าวว่า จะมีการทดสอบภาวะวิกฤตที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ตุรกี รัสเซีย และสวิตเซอร์แลนด์ ด้วย

สารกัมมันตรังสี

สารกัมมันตรังสี คือ สารที่สลายตัวปลดปล่อยรังสีออกมา โดย รังสี คืออนุภาคหรือคลื่นที่ปลดปล่อยออกมาจากอะตอมของสารกัมมันตรังสี จึงไม่มีสี กลิ่น หรือสิ่งที่ทำให้สังเกตเห็นได้ สามารถแบ่งประเภทของสารกัมมันตรังสีได้ตามลักษณะการเกิดจาก 2 แหล่ง คือ จากธรรมชาติ สารกัมมันตรังสีจากธรรมชาติ เช่น ยูเรเนียม 235, ยูเรเนียม 238, คาร์บอน 14 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของโลก และจากมนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์ปรมาณู หรือในเครื่องเร่งอนุภาค

สารกัมมันตรังสีทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะให้รังสีออกมา ได้แก่ รังสีแอลฟ่า, รังสีเบต้า, รังสีแกมมา นิวตรอน โดยมีการใช้ประโยชน์จากรังสีเอกซ์ (X-ray) ทางการแพทย์ อุตสาหกรรม การเกษตรและงานวิจัยต่างๆ ขณะเดียวกัน รังสี ก็มีอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน การได้รับกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอันตรายที่แตกต่างกันไปตามปริมาณและระยะเวลาในการได้รับกัมมันตรังสี อาทิ เม็ดเลือดขาวลดลง อ่อนเพลีย ผิวหนังบวมพองไปจนถึงการเสียชีวิต

สำหรับวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีในระดับที่สูงขึ้นนั้น เราควรจะอยู่แต่ภายในตัวอาคาร เพราะอาจจะได้รับกัมมันตรังสีที่แพร่กระจายในอากาศ และหากเดินทางกลับเข้ามาภายในบ้านแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าเสื้อผ้าหรือรองเท้าจะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ดังนั้นจึงควรถอดสิ่งที่สวมอยู่และใส่ลงในถุงพลาสติกและมัดอย่างแน่นหนา

เมื่ออยู่ในภายในบ้านหรืออาคารแล้วควรจะปิดเครื่องระบายอากาศ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องมืออื่นๆที่มีระบบการทำงานที่ใกล้เคียงกันภายในบ้าน รวมทั้งปิดประตูและหน้าต่างทั้งหมด หาภาชนะมาคลุมอาหาร ส่วนน้ำดื่มนั้นจะต้องนำมาเก็บไว้ในหม้อ ถัง หรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดโอกาสที่จะสัมผัสกับกัมมันตรังสีนั้น ควรจะสวมหน้ากาก หมวก หรือเสื้อโค้ตที่มีหมวก และหากฝนหรือหิมะตกกควรจะใส่รองเท้าบู๊ตหรือถุงมือด้วย นอกจากนี้ ควรจะมีการเตรียมถุงที่บรรจุเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการอพยพ เช่น ไฟฉาย วิทยุแบบพกพา เสื้อผ้า และอุปกรณ์ที่จำเป็น

สถานการณ์ของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จ.ฟูกุชิม่า ณ บ่ายวันนี้

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่าหมายเลข 1

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 - ระบบหล่อเย็นขัดข้อง, แกนกลางหลอมละลายบางส่วน, มีการขับไอน้ำ, อาคารคลุมเตาเสียหายเมื่อวันเสาร์จากกรณีไฮโดรเจนระเบิด, เจ้หาน้าที่ต้องฉีดน้ำทะเลเข้าไปในเตาปฏิกรณ์

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 - ระบบหล่อเย็นขัดข้อง, ฉีดน้ำทะเลเข้าไปในเตาปฏิกรณ์, แท่งเชื้อเพลิงโผล่พ้นน้ำเต็มที่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง, มีการขับไอน้ำ, อาคารซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์ได้รับความเสียหายเมื่อวันจันทร์จากการระเบิดที่เตาหมายเลข 3, หม้อความดันสูงบรรจุแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เสียหายเมื่อวันอังคาร, เกรงว่าอาจมีการหลอมละลาย

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 - ระบบหล่อเย็นขัดข้อง, เกรงว่าแกนกลางจะหลอมละลายบางส่วน, มีการขับไอน้ำ, ฉีดน้ำทะเลเข้าไปในเตาปฏิกรณ์, อาคารซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์ได้รับความเสียหายเมื่อวันจันทร์จากไฮโดรเจนระเบิด, ตรวจพบกัมมันตรังสีระดับสูงในบริเวณใกล้เคียงเมื่อวันอังคาร, พบกลุ่มควันในวันพุธ, มีแนวโน้มว่าหม้อความดันสูงบรรจุแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จะเสียหาย

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 - อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว, เกิดไฟไหม้เมื่อวันอังคารซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการระเบิดของไฮโดรเจนที่บ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว, มองไม่เห็นระดับน้ำในบ่อ, พบเหตุเพลิงไหม้ในวันพุธบริเวณอาคารคลุมเตา, ไม่มีการเทน้ำใส่ในบ่อเย็น

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 - อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว, อุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อยในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 6 - อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว, อุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อยในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่าหมายเลข 2

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 - ระบบหล่อเย็นขัดข้อง จากนั้นได้หยุดทำงาน

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 - ระบบหล่อเย็นขัดข้อง จากนั้นได้หยุดทำงาน

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 - ระบบทำความเย็นหยุดทำงาน

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 - ระบบหล่อเย็นขัดข้อง จากนั้นได้หยุดทำงาน

นักวิเคราะห์ชี้เศรษฐกิจแดนปลาดิบกระทบหนักแต่จะฟื้นตัวได้ช่วงครึ่งปีหลัง

นักวิเคราะห์มองว่า การที่ญี่ปุ่นไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการระเบิดที่เตาปฏิกรณ์ของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จนทำให้ตลาดหุ้นดิ่งลงนั้น มีแนวโน้มว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างใหญ่หลวง โดยเมื่อวันจันทร์และอังคารที่ผ่านมา ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวร่วงลงเฉลี่ยถึง 16% และวันนี้ก็เป็นวันแรกที่ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวดีดตัวขึ้น

นายมาซาอากิ คันโน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกนในญี่ปุ่น กล่าวว่า ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวที่มีต่อเศรษฐกิจนั้นรุนแรงมากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการผลิตที่หยุดชะงักจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่นักวิเคราะห์อีกหลายรายคาดว่า เหตุแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล และความวิตกกังวลเรื่องสารกัมมันตรังสีในญี่ปุ่นที่รุนแรงมากขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวลดลงในระยะสั้นๆ ก่อนที่จะดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในครึ่งปีหลัง

นายคาโอรุ โยซาโน รัฐมนตรีเศรษฐกิจและนโยบายการคลังของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า "ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแข็งแกร่ง" ผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์และสึนามิที่เกิดขึ้นตามมาจะไม่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหยุดชะงัก

นายทาเครุ อิไนซูมิ หัวหน้าแผนกหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์มิซูโฮ อินเวสเตอร์ส ซีเคียวริตี้กล่าวว่า นักลงทุนถอนสินทรัพย์จากตลาดญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว ในขณะที่ตัวเลขประมาณการผลกระทบของแผ่นดินไหวยังไม่ชัดเจน

นายอิไนซูมิกล่าวว่า หุ้นที่มีทุนจดทะเบียนสูงอย่างโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป มีมูลค่าลดต่ำลงอย่างมาก แต่หุ้นเหล่านี้จะกลับมาเป็นปัจจัยหลักต่อการฟื้นตัว เมื่อตลาดกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ

นักวิเคราะห์จากธนาคารดีบีเอสของสิงคโปร์คาดการณ์ว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ เท่ากับ 2% ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

แม้ว่า ญี่ปุ่นจะต้องเผชิญศึกใหญ่ประดังประเดกันเข้ามา แต่การที่ญี่ปุ่นสามารถเจริญรุ่งเรืองได้หลังจากที่พ่ายสงครามโลกและถูกระเบิดปรมาณูถล่มนั้น ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีวินัยและความอดทนสูง ญี่ปุ่นจึงไม่ย่อท้อที่จะแก้ปัญหาจากเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ประกอบกับนานาประเทศได้เทน้ำใจช่วยเหลือ ดังนั้น การที่ญี่ปุ่นจะฟื้นตัวขึ้นกลับมาผงาดได้อีกครั้งนั้น แม้ว่าจะต้องใช้เวลา แต่ก็คงไม่นานเกินรอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ