เกียวโดแนะวิธีเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 16, 2011 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวเกียวโดแนะนำวิธีเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีดังต่อไปนี้

หากมีคำสั่งให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านหรืออาคาร ประชาชนที่เพิ่งกลับเข้าบ้านหรืออาคารต้องถอดเสื้อผ้า รองเท้า และทุกอย่างที่สวมใส่ออกให้หมด จากนั้นใส่ในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น เนื่องจากอาจมีสารกัมมันตรังสีติดมาด้วย ความจริงแล้วสารเหล่านี้จะหลุดออกไปเมื่อผ่านการซักล้าง ส่วนเส้นผม ใบหน้า และร่างกาย ให้ล้างทำความสะอาดด้วยแชมพูและสบู่ แต่หากไม่มีน้ำใช้ในปริมาณมาก ให้เช็ดตัวด้วยผ้าหรือทิชชูชุบน้ำหมาดๆแทน

เมื่ออยู่ในบ้านหรืออาคารแล้ว ควรจะปิดเครื่องระบายอากาศ เครื่องปรับอากาศ หรืออุปกรณ์อื่นๆที่มีการถ่ายเทอากาศระหว่างภายในและภายนอกอาคาร ขณะเดียวกันก็ควรปิดประตูและหน้าต่างทุกบาน ส่วนอาหารควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดหรือห่อไว้ และหากจำเป็นก็ควรจะแช่เย็น สำหรับน้ำดื่มควรบรรจุในหม้อ ถัง หรือภาชนะอื่นๆ

หากมีคำสั่งให้อพยพออกจากพื้นที่ ต้องปิดวาล์วแก๊สและถอดปลั๊กไฟออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ และหลังจากล็อกประตูบ้านเรียบร้อยแล้ว ประชาชนต้องเดินไปยังจุดรวมพลและทำตามคำสั่งของผู้นำ ความจริงแล้วการขับรถไปยังจุดรวมพลนั้นสามารถทำได้ แต่ช่วงดังกล่าวการจราจรอาจจะติดขัดมาก หรือหากจำเป็นต้องจอดรถกลางถนน รถของท่านก็จะเป็นอุปสรรคต่อรถขนส่งปัจจัยที่จำเป็นหรือรถดับเพลิง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้รถหากเป็นไปได้

สิ่งของที่ควรพกติดตัวไปคือ หน้ากาก หมวก และเสื้อคลุมที่มีหมวก เพื่อลดการสัมผัสกับสาร หากมีฝนหรือหิมะตกให้สวมรองเท้าบู๊ตและถุงมือ ขณะเดียวกันก็ควรเตรียมผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำปิดปากและจมูกเพื่อป้องกันการสูดดมสารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกาย นอกจากนั้นควรเตรียมกระเป๋าฉุกเฉิน ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็น อย่างเช่น ไฟฉาย วิทยุพกพา เสื้อผ้า ฯลฯ

หากอยู่นอกพื้นที่ที่มีคำสั่งให้ทำการอพยพนั้น ควรสวมหน้ากากหรือย้ายที่อยู่ไปยังจุดที่ห่างออกไป อย่างไรก็ตาม สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ไม่มีความจำเป็นต้องออกจากพื้นที่ในทันที

ปัจจัยด้านสภาพอากาศก็มีส่วนสัมพันธ์กับระดับสารกัมมันตรังสี โดยปริมาณสารกัมมันตรังสีที่เพิ่มขึ้นในอากาศอาจมีปริมาณน้อยลงเมื่อฝนตก กระแสลมแรงอาจทำให้สารกัมมันตรังสีที่โดยปกติแล้วจะมีอาคารหรือภูเขาเป็นด่านป้องกันนั้น แพร่กระจายออกไปไกล อย่างไรก็ตาม สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ระบุว่า โดยปกติแล้วจะมีการกำหนดพื้นที่สำหรับการอพยพ โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อม ดังนั้น ผู้ที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ภายในบ้านคือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ทางการกำหนด

ประชาชนพึงระวังอันตรายจากการบริโภคอาหารที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนมากับน้ำหรือพืชผลทางการเกษตร รัฐบาลอาจจะจำกัดการขนส่งผลผลิตจากบางพื้นที่ หลังมีการตรวจวัดระดับกัมมันตรังสีในพื้นที่นั้นๆ สำนักงานวิทยาศาสตร์รังสีแห่งชาติขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารจากพื้นที่ที่มีการอพยพ จนกว่าจะมีการยืนยันเรื่องความปลอดภัย

สำหรับการรับประทานไอโอดีนเพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสีนั้น มีคำเตือนว่า การรับสารไอโอดีนในปริมาณมากอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งไทรอยด์ นอกจากนี้ การรับสารไอโอดีนเพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสีจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เกิดอาการแพ้ ทั้งนี้ ไอโอดีนไม่สามารถป้องกันกัมมันตรังสีทุกประเภทได้ ดังนั้น การรับประทานสารโอโอดีนจึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ