นายเกรแฮม แอนดริว เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เปิดเผยว่า ความพยายามรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นนั้นมี "ความคืบหน้าไปในทางที่ดีขึ้น"
อย่างไรก็ตาม นายแอนดริวกล่าวว่า สถานการณ์โดยรวมที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หมายเลข 1 ในฟูกุชิม่ายังคงอยู่ในขั้นร้ายแรง
"ในวันนี้มีการเชื่อมต่อไฟฟ้านอกพื้นที่โรงงานเข้าสู่สถานีย่อยของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2" นายแอนดริวประกาศ พร้อมทั้งเสริมว่า "การแก้ปัญหาที่โรงงานยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องภายใต้ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการเชื่อมต่อไฟฟ้าจากสถานีย่อยไปยังอาคารที่สร้างครอบเตาปฏิกรณ์ และยังมีการฉีดน้ำทะเลเข้าไปที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2 และ 3 ขณะที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ไม่จำเป็นต้องฉีดน้ำเข้าไปเนื่องจากเตาดังกล่าวไม่มีกระแสไฟฟ้า
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ความคืบหน้าในเชิงบวกคือระบบหล่อเย็นที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และ 6 เริ่มกลับมาทำงาน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวหมายความว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ในโหมดที่ปลอดภัย ขณะที่การทำงานของระบบหล่อเย็นเริ่มคงที่และสามารถควบคุมได้ โดยที่อุณหภูมิและแรงกดดันภายในเตาปฏิกรณ์อยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังคงสังเกตเห็นควันหรือไอน้ำที่ออกมาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 แต่มีปริมาณความเข้มข้นน้อยกว่าวันก่อนๆ และยังคงมีการฉีดน้ำเข้าอาคารที่สร้างครอบเตาปฏิกรณ์อย่างต่อเนื่อง
นายแอนดริวกล่าวด้วยว่า ระดับสารกัมมันตรังสีในเมืองหลักๆ ของญี่ปุ่นยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนักนับตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา และยังอยู่ต่ำกว่าระดับที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสารกัมมันตรังสีของ IAEA ได้ประเมินระดับสารกัมมันตรังสีในกรุงโตเกียวกับเมืองต่างๆที่อยู่ห่างจากโรงงานในฟูกุชิม่ากว่า 150 กิโลเมตร โดยข้อมูลล่าสุดจากทีมงานมีการพบสารปนเปื้อนบนพื้นดินในรัศมี 50-70 กิโลเมตรรอบโรงงานในฟูกุชิม่า ซึ่งทาง IAEA กำลังส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อติดตามสถานการณ์เพิ่มเติมไปยังประเทศญี่ปุ่น นายแอนดริวกล่าว