นายกฯ เผยยูเนสโกจัดเวทีหารือปัญหาพิพาทเขาพระวิหาร ก่อนคุยมรดกโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday March 22, 2011 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของผู้อำนวยการองค์การยูเนสโกว่า การเข้าพบครั้งนี้เป็นการมาทำความเข้าใจเรื่องของไทยกัมพูชาเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น สำหรับรูปแบบการเจรจาทวิภาคีของไทย-กัมพูชานั้น ยูเนสโก ได้เตรียมจัดเวทีให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้เจรจากันในเดือนพ.ค.นี้ โดยยูเนสโกจะไม่เข้ามาแทรกแซงมากนัก

หลังจากนั้น จะมีการกำหนดท่าทีอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนมิ.ย. ซึ่งจะเปลี่ยนที่ประชุมจากเดิมที่ประเทศบาห์เรนไปที่ประเทศฝรั่งเศส

ขณะเดียวกันผู้อำนวยการยูเนสโกแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้แผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารที่ยังจัดทำไม่แล้วเสร็จมาเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเชื่อว่าการปักปันเขตแดนน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเดือนเม.ย.

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า กลไกของคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา(เจบีซี) ยังต้องเดินหน้าต่อไป เพราะไม่เช่นนั้น สถานการณ์จะเข้าไปสู่กรอบพหุภาคีซึ่งจะส่งผลเสียกับไทย ขอให้กลุ่มที่คัดค้านช่วยเข้าใจในจุดนี้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะนำผลบันทึกการประชุมเจบีซีเข้าที่ประชุมสภาฯ โดยยืนยันว่าไม่ส่งผลต่ออธิปไตยของไทย เป็นเพียงการรับรองบันทึกผลการประชุม เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่การทำสนธิสัญญาหรือข้อตกลงแต่อย่างใด ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯจะเคลื่อนไหวคัดค้านที่สภาฯ หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาดูแล

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการกำหนดวันเลือกตั้งว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุวันที่ชัดเจนได้ แต่ยืนยันว่ายังคงอยู่ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค.54 ซึ่งหากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ผ่านสภาฯ ได้เร็วก็อาจทำให้การประกาศยุบสภาทำได้เร็วมากขึ้น พร้อมย้ำว่าแนวทางการเลือกตั้ง ยังเป็นทางออกเดียวของประเทศ ซึ่งหลายปัญหาก็จะสามารถคลี่คลายไปได้ เมื่อผ่านการเลือกตั้งแล้ว และหวังว่าบรรยากาศการเลือกตั้งจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ถึงแม้จะมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ซึ่ง ผบ.ตร.ยืนยันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วว่าจะสามารถดูแลสถานการณ์ได้

นอกจากนี้ กรณีการลงมติคว่ำบาตรประเทศลิเบียนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพียงแต่รับทราบเท่านั้น โดยที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาว่ามีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในหลายด้าน ส่วนแรงงานไทยที่อยู่ในลิเบียที่เหลือเป็นการแสดงความจำนงว่าต้องการจะอยู่ต่อไป แต่ทางรัฐบาลจะมีการติดต่อเป็นระยะ หากต้องการเดินทางกลับประเทศก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ