Analysis: ทั่วโลกแห่ใช้มาตรการเฝ้าระวัง หลังญี่ปุ่นระงับส่งออกอาหารปนเปื้อนกัมมันตรังสี

ข่าวต่างประเทศ Thursday March 24, 2011 13:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเตือนประชาชนไม่ให้รับประทานผักชนิดต่างๆ เช่น ผักโขมและบล็อคโคลีที่ปลูกในจังหวัดฟูกุชิม่าและบริเวณโดยรอบเนื่องจากตรวจพบสารกัมมันตรังสีเมื่อวานนี้ (23 มี.ค.) นั้น ได้จุดปะทุให้เกิดความวิตกกังวลระลอกใหม่ในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆทั่วโลก ขณะที่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในญี่ปุ่นทวีความรุนแรงขึ้นแบบรายวัน

ทางการญี่ปุ่นได้ตรวจพบว่า ผัก 11 ชนิดที่ปลูกในบริเวณใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่าปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด ส่งผลให้นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ต้องสั่งการให้ผู้ว่าการจังหวัดฟูกุชิม่า ออกแถลงการณ์แนะนำไม่ให้ประชาชนในจังหวัดรับประทานผักชนิดต่างๆ เช่น กะหล่ำปลี ผักโคมัตสึนะ บล็อคโคลี และดอกกะหล่ำ

คำแนะนำดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดอิจิ ต้องเผชิญกับการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี นับตั้งแต่ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าพนักงานของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโก) พยายามควบคุมปัญหาที่เตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 เตา แต่เทปโกเชื่อว่าแกนกลางของเตาปฏิกรณ์บางส่วนได้หลอมละลายไปแล้ว

วิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้สมาคมสหกรณ์การเกษตรและสมาพันธ์การเกษตรแห่งชาติของญี่ปุ่น ตัดสินใจระงับการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีตั้งแต่เมื่อวานนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ แต่ก็มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากจังหวัดฟูกุชิม่าที่ได้ส่งออกไปก่อนเมื่อวานนี้

ฮิเดยูกิ ทาดาโกโร่ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยทสึคูบะ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "เราพบว่าผัก 11 ชนิดจากพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดฟูกุชิม่าปนเปื้อนไอโดดีน 131 และซีเรียม 137 ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารกัมมันตรังสี และยังพบว่าผักคูคิตาเตนะ มีระดับของซีเรียมสูงกว่ากำหนดถึง 160 เท่า"

"จริงอยู่ที่ว่ารัฐบาลมีงานล้นมือในเรื่องการคลี่คลายผลกระทบของแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และวิกฤตนิวเคลียร์ แต่บทเรียนที่เราได้จากหายนะของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในปี 2529 ก็คือว่า อาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีทำให้เป็นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งหมายความว่า ภาคการเกษตรทั้งหมดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง" เขากล่าว

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ทาดาโกโร่กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงทั้งในทันที ระยะสั้น และระยะยาว เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ และจะต้องเร่งลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีในอากาศ บนพื้นดิน และในท้องทะเล

สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ประกาศห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและผักจากเมืองต่างๆที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดอิจิ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นม ผักสด และผลไม้สดทุกชนิดจากจังหวัดฟูกุชิม่า กันมะ อิบารากิ และโตชิกิ

ด้านมาเลเซียกำลังตรวจสอบผลิตภัณฑ์นำเข้าทุกชนิดจากญี่ปุ่น ขณะที่ฟิลิปปินส์กำลังสุ่มสำรวจสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น และสิงคโปร์ได้ดำเนินการทดสอบแบบครอบคลุมในสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ส่วนประเทศอื่นๆก็กำลังใช้มาตรการที่เข้มงวดในภาคค้าส่ง

นอกจากนี้มีรายงานว่า เกาหลีใต้กำลังพิจารณาห้ามนำเข้าอาหารจากจังหวัดฟูกุชิม่าและอีก 3 จังหวัดใกล้เคียง เพราะกังวลว่าอาจจะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี อย่างไรก็ตาม สำนักงานอาหารและยาของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ทางสำนักงานจะยังไม่ประกาศห้ามนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นในขณะนี้ แต่ได้เลือกใช้มาตรการป้องกัน เช่นเดียวกับจีนและประเทศอื่นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ