ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) มั่นใจอาคารสูงในกรุงเทพฯ จะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว แม้สัปดาห์ก่อนจะมีผู้อยู่อาศัยในอาคารสูงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า ซึ่งหลังจากนั้น กทม.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบอาคารที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษจำนวน 8 อาคาร จาก 15 อาคารพบว่ามีหลายแห่งที่มีมาตรการการดูแลประชาชนเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีอีกหลายแห่งที่ยังไม่มี
"โชคดีที่มีการออกแบบอาคารให้มีการรองรับแรงลมด้วย ดังนั้นหากเกิดแผ่นดินไหวก็จะไม่เกิดผลกระทบมากนัก แต่สิ่งที่ควรห่วงคือความรู้สึกของประชาชนที่มักมีความตื่นตระหนกมากเมื่อเกิดเหตุ" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ กทม.มีกฎหมาย 2 ฉบับที่ใช้ควบคุมการก่อสร้างอาคาร ได้แก่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 49 ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 ซึ่งทำให้การควบคุมอาคารทั้งที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และอาคารเก่าที่ก่อสร้างนานแล้วมีมาตรการควบคุมที่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม กทม.จะได้ประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหว รวมทั้งการรวมปัญหาจากสึนามิเข้าในแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครด้วย เนื่องจาก กทม.มีพื้นที่บางส่วนบริเวณเขตบางขุนเทียนที่อยู่ติดทะเล การเกิดปัญหาแผ่นดินไหวอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องยังพื้นที่ติดชายทะเลเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นได้
นอกจากนี้ ตนเองได้มอบหมายให้สำนักการโยธาจัดให้มีการจัดเสวนาเรื่องแผ่นดินไหว โดยเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วย เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ไปยังห้างสรรพสินค้า 4 มุมเมืองที่มีขนาดใหญ่ เป็นการให้ความรู้เรื่องการเตรียมการรองรับแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้แก่ชาว กทม.โดยเฉพาะ คาดว่าจะสามารถจัดได้ภายในเดือน พ.ค.54