นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้รับทราบการรายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 5 จังหวัด จากหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.จนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งหมด 5 จังหวัด 42 อำเภอ 214 ตำบล 1,689 หมู่บ้าน 66,034 ครัวเรือน 161,991 คน มีผู้เสียชีวิต 6 คน โดยจังหวัดนครศรีธรรมราช น้ำท่วมในพื้นที่ 20 อำเภอ 122 ตำบล 1,051 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 62,538 ครัวเรือน 27,638 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 16,600 ไร่ ถนน 297 สาย ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช, ลานสกา, ร่อนพิบูลย์, พระพรหม, พิปูน, เฉลิมพระเกียรติ, หัวไทร, จุฬาภรณ์, ชะอวด, ขนอม, สิชล, นบพิตำ, ปากพนัง, พรหมคีรี, ท่าศาลา, ถ้ำพรรณรา, ช้างกลาง, เชียรใหญ่, ฉวาง และนาบอน
จังหวัดพัทลุง น้ำท่วมพื้นที่ 9 อำเภอ 41 ตำบล 363 หมู่บ้าน 55 ชุมชน ประชาชนเดือดร้อน 23,677 ครัวเรือน 94,708 คน ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง, เขาชัยสน, ควนขนุน, กงหรา, ศรีบรรพต, บางแก้ว, ป่าพะยอม, นครรินทร์ และป่าบอน
จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ 11 ตำบล 23 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอดอนสัก, กาญจนประดิษฐ์, ไชยา และ เวียงสระ
จังหวัดตรัง เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ 15 ตำบล 77 หมู่บ้าน 2 ชุมชน ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง, ห้วยยอด และรัษฎา
จังหวัดชุมพร เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 อำเภอ 25 ตำบล 175 ประชาชนเดือดร้อน 14,719 คน 4,745 ครัวเรือน ได้แก่ อำเภอเมืองชุมพร, สวี, หลังสวน, ละแม, พะโต๊ะ และทุ่งตะโก
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปกำหนดเกณฑ์การเยียวยาผู้ประสบความเดือดร้อนจากวาตภัยและอุทกภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งเร่งกำหนดกฎเกณฑ์อุทกภัยของเหตุการณ์ค้างเก่าให้แล้วเสร็จ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังมอบหมายให้นายสาทิตย์ เรียกประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางในการรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การแจ้งเตือนประชาชน
โดยนายกรัฐมนตรีกำชับว่าจะต้องเป็นข้อมูลที่เร็วและครบถ้วน แต่ทั้งนี้การให้คำเตือนแผ่นดินไหวจะต้องให้ด้วยความระมัดระวัง และอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก และต้องมีการเตรียมการเพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ประมาท
นายสาทิตย์ กล่าวว่า จะนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีในวันพรุ่งนี้(29 มี.ค.) เช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที), กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพมหานคร(กทม.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ศูนย์ศึกษาแผ่นดินไหว และนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ร่วมกันหามาตรการป้องกันภัยแผ่นดินไหว และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
พร้อมกันนี้ จะประชุมคณะกรรมการอำนวยการติดตามช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเพื่อติดตามสถานการณ์รวมถึงความช่วยเหลือที่อาจมีเพิ่มเติม ส่วนเงินช่วยเหลือชดเชยผู้ประสบอุทกภัย 5,000 บาท จากครั้งที่แล้วยังเหลือตกค้างอยู่ประมาณ 2 แสนราย ซึ่งจะเร่งเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในครั้งล่าสุดครั้งนี้ยังไม่มีการพิจารณาจ่ายค่าชดเชย แต่หากน้ำท่วมขังเกิน 7 วัน จะมีการพิจารณาอีกครั้ง