In Focusจับตาอนาคตญี่ปุ่น เมื่อธรณีวิปโยคดินแดนซากุระสะเทือนถึงดวงดาว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 30, 2011 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถานการณ์รอบโลกในขณะนี้คงไม่มีภาพข่าวใดจะน่าเห็นอกเห็นใจมากไปกว่าภาพชาวญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับผลพวงของแผ่นดินไหวและหายนะของคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. บ้านเรือนที่พังทลายและหายไปกับกระแสน้ำคงสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้เป็นเจ้าของที่ทุ่มเทแรงกายทั้งชีวิตไปกับการสร้างบ้านเอาไว้เป็นเรือนตายในยามแก่เฒ่า ในภาคเอกชนก็รับผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะอาคารพาณิชย์และโรงงานอุตสาหกรรมที่แหลกลาญไปกับธรณีพิบัติในครั้งนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ ยิ่งในภาครัฐไม่ต้องพูดถึง เราๆท่านๆก็คงได้ทราบข่าวกันเป็นระยะว่า คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นวิ่งกันขาขวิดเพื่อตามแก้ปัญหาสารกัมมันตรังสีที่แพร่กระจายออกมาหลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟูกุชิม่าได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว

วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หายนะของชาวญี่ปุ่น และตราบาปของเทปโก

หายนะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นยังผลให้เกิดการตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก จากที่เคยวาดหวังกันว่าจะเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่มาทดแทนเชื้อเพลิงชีวภาพที่กำลังเจอทางตัน เพราะความต้องการที่พุ่งพรวดทำให้อุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพเข้าไปแย่งวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้เชื้อเพลิงชีวภาพกลายเป็นโจทก์ของสังคมอยู่ในขณะนี้ กระแสความตื่นกลัวสารกัมมันตรังสีมีอานุภาพแรงพอที่จะกระตุกรัฐบาลของชาติมหาอำนาจทั่วโลกได้เริ่มทบทวนความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป ฝรั่งเศส และเยอรมนี ฯลฯ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ไล่ตั้งแต่บริษัทโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่หนาวๆร้อนๆไปกับการเตรียมถูกตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย ไปจนถึงบริษัทที่กำลังทำเรื่องของกู้เงินเพื่อสร้างหรือขยายโรงไฟฟ้า ทำเอาธนาคารเจ้าหนี้ต้องเบรคแผนการปล่อยกู้กันตัวโก่งเลยทีเดียว

พูดถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็คงต้องพูดถึงโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เทปโก) เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดอิจิ และไดนิ ที่กำลังถูกสังคมซักฟอกอย่างหนักเมื่อมีการเปิดโปงรายงานบันลือโลกว่า เทปโก้ยื่นข้อมูเท็จต่อหน่วยงานของรัฐ จากที่เคยบอกว่าบริษัทมีการตรวจสอบอุปกรณ์ทุกอย่างของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างดีเสมอมา จนเมื่อถูกวิกฤตนิวเคลียร์ต้อนเข้ามุม ถึงได้ออกมายอมรับว่า บริษัทไม่ได้ทำการตรวจสอบอุปกรณ์รวม 33 ชิ้นของเตาปฏิกรณ์ 6 เตาที่ฟูกุชิม่า และที่น่าตกใจก็คือคำสารภาพที่ว่า บอร์ดพลังงานซึ่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังวาล์วควบคุมอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์นั้น "ไม่เคยมีการตรวจสอบมานานถึง 11 ปี" ...รายงานเท็จของเทปโกทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเสียหน้าอย่างแรง เพราะสะท้อนถึงความบกพร่องในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่แปลกใจที่ได้เห็นรัฐบาลญี่ปุ่นออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ว่า รัฐบาลอาจจะโอนกิจการของเทปโกมามาอยู่ในความดูแลของรัฐ เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่รัฐบาลเองเป็นตัวตั้งตัวตีในการสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ แต่กลับทำให้เกิดหายนะที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ...อย่างนี้ต้องเรียกว่าบกพร่องโดยสุจริต

ประเมินผลกระทบหลังแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์สะเทือนเศรษฐกิจค่อนโลก

หลังจากเกิดแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 11 มี.ค.เพียงไม่กี่วัน บรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็เริ่มเคลื่อนไหว รายแรกคือ S&P ที่ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือบริษัทประกันภัยของญี่ปุ่น เพราะหวั่นใจว่าค่าใช้จ่ายในการชดเชยผู้ทำประกันของบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นอาจจะสูงกว่าระดับเมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบของญี่ปุ่นในปี 2538 (Great Hanshin Earthquake) และยังกังวลว่า การทรุดตัวลงของตลาดหุ้นจะส่งผลกระทบต่อฐานเงินทุนของบริษัทประกันเหล่านี้ด้วย

ด้านธนาคารโลกประมาณการว่า หายนะครั้งนี้จะทำให้ญี่ปุ่นต้องแบกรับความเสียหายสูงถึง 2.35 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าต้นทุนความเสียหายของเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบที่ระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าบริษัทประกันจะมีต้นทุนในการจ่ายค่าชดเชยเป็นวงเงินสูงถึง 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ วิกฤตการณ์เช่นนี้จะทำให้หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นสูงถึง 228% ของจีดีพีในปี 2554 ผลที่ตามมาคือญี่ปุ่นอาจจะผิดนัดชำระหนี้ และนี่ยังไม่ได้รวมความเสียหายที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า

ธนาคารโลกแสดงความห่วงใยว่า แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นไปจนถึงช่วงกลางปีนี้ ซึ่งกระทบไกลไปถึงเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียด้วย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิก เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตและเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของเครือข่ายการผลิตในเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ ยังอาจจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงราว 0.2% และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลง 1% ในปีนี้..แต่ธนาคารโลกก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเริ่มกระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาสหลังๆ เพราะได้แรงหนุนจากโครงการบรูณะฟื้นฟูประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า

ล่าสุดเมื่อวานนี้ สโกเทีย อิโคโนมิกส์ ออกรายงานเรื่อง "Global Auto Report" มีใจความว่า หายนะที่ญี่ปุ่นกำลังสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก รวมถึงระบบซัพพลายเชนชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ การปิดโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ในญี่ปุ่นส่งผลให้มีการสูญเสียกำลังการผลิตยานยนต์ราว 37,000 คัน/วันนับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหว และเฉพาะการปิดโรงงานในญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวจะส่งผลให้กิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมลดลงอย่างน้อย 1% ในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ภัยพิบัติในญี่ปุ่นยังส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความบันเทิง รวมถึงสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ในผลิตสีทารถ เพราะญี่ปุ่นเป็นซัพพลายเออร์อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ 21% ของอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก และเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตแผงวงจรไฟฟ้าและระบบเซ็นเซอร์สำหรับยานยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐน่าจะรับผลกระทบครั้งนี้ไปเต็มๆ เพราะสหรัฐเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนประกอบรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยยอดนำเข้าที่กว่า 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มียอดนำเข้าชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จากญี่ปุ่นมูลค่า 7.6 พันล้านดอลลาร์ ทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศที่ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบรถยนต์

อนาคตของญี่ปุ่นนับจากนี้ สิ่งที่ต้องการคือกำลังใจและการฟื้นฟู

ชะตากรรมของญี่ปุ่นเข้าตำราที่ว่า ไม่เจอกับตัวก็ไม่รู้ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิได้ไม่นาน หลายองค์กรได้ออกมาแสดงความคิดเห็นและคาดเดาอนาคตของญี่ปุ่นกันไปหลายทาง บ้างก็ว่าญี่ปุ่นมาถึงคราวที่ต้องสรุปทบเรียนเรื่องการบริหารจัดการเชิงโครงสร้าง บ้างก็ว่าคงถึงเวลาที่เกิด paradigm shift หรือโลกทัศน์ใหม่ ในญี่ปุ่น ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม หรือบางก็ว่าญี่ปุ่นคงมาถึงคราวที่หลุดจากบัลลังก์ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ...แต่ไม่ว่าญี่ปุ่นจะล้มลงในด้านใดก็ตาม สิ่งที่ประชาชนชาวโลกอย่างเราและท่านควรจะทำคือการ "เข้าโหมดการให้กำลังใจญี่ปุ่น" นั่นคือไม่ตอกย้ำและซ้ำเติม

จะว่าไปแล้ว ชาวญี่ปุ่นเองก็ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีวินัยและมีจิตใจที่รักชาติ โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจกันฟื้นฟูประเทศให้กลับสู่สภาพเดิมหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง และหายนะจากแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบเมื่อปี 2538 และความเคลื่อนไหวที่น่าประทับใจไม่น้อยคือเมื่อบริษัทและนักลงทุนญี่ปุ่นทั่วทุกมุมโลกประกาศความพร้อมที่จะเทขายสินทรัพย์ในต่างประเทศเพื่อนำเงินกลับมาช่วยฟื้นฟูแผ่นดินบ้านเกิด ต้นทุนแห่งจิตใจที่งดงามเช่นนี้ก็มากพอที่จะพลิกฟื้นญี่ปุ่นให้กลับมายืนบนขาตัวเองได้อีกครั้ง และชาวญี่ปุ่นคงจะชื่นใจมากขึ้นเมื่อรู้ว่า ประเทศทั่วโลกต่างบริจาคเงินและให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆแก่ญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ไม่เว้นแม้แต่วงการบินเทิงเหล่าศิลปินทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ยูทู, มาดอนน่า, บ๊อบ ดีแลน, เลดี้กาก้า ,บียอนเซ่ และอีกมากมาย ไม่ลืมที่จะระลึกถึงญี่ปุ่น จึงได้ร่วมใจกันออกอัลบัมเพลง "Songs for Japan" เพื่อเป็นทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น

แม้บรรยากาศในเทศกาลดอกซากุระบานเมื่อวันจันทร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา จะดูเหงาหงอย เพราะชาวญี่ปุ่นคงยังไม่ตื่นจากฝันร้ายของภัยพิบัติในครั้งนี้ แต่คอลัมน์ In Focus ก็ขอส่งกำลังใจไปให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนเข้มแข็ง และร่วมกันต่อสู้ ฟื้นฟูประเทศชาติให้กลับมามั่นคงเหมือนเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ