นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการเฝ้าระวังอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นเพิ่มเติมโดยจะมีการออกประกาศหรือแก้ไขประกาศของกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยรังสีปนเปื้อน จากปัจจุบันกำหนดรังสีปนเปื้อนเพียงรายการเดียว คือซีเซียม 137 (Caesium-137) จะปรับแก้โดยเพิ่มรังสีปนเปื้อนอีก 2 รายการ คือซีเซียม 134 (Caesium-134) กำหนดให้ไม่เกิน 50 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม และไอโอดีน 131 กำหนดให้ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอาหารในวันที่ 7 เมษายน 2554 หลังจากนั้น รมว.สาธารณสุขจะลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับการตรวจอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นจะเน้นหนักใน อาหารทะเลจะมีการสุ่มตรวจต่อไป ยังไม่มีมาตรการเปลี่ยนแปลง, ผัก ผลไม้ และพืชหัว จะตรวจทุกรายการที่นำเข้าจากเกาะฮอนชู และ นม จะตรวจทุกรายการเช่นเดียวกัน แต่ขณะนี้ไทยยังไม่มีการนำเข้านมจากญี่ปุ่นแต่อย่างใด
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้นำเข้าอาหารรายการต่างๆที่ระบุไว้ จะต้องแนบผลการวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการในพื้นที่แหล่งกำเนิดที่กำหนดด้วยทุกรายการ รวมทั้งระบุวันเวลาที่ผลิตหลังจากวันที่ 15 มีนาคม 2554 โดยห้องปฏิบัติการที่ให้การรับรองจะต้องผ่านมาตรฐาน ไอเอสโอ 17025 (ISO 17025) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับหลายประเทศที่ได้ดำเนินการแล้วในขณะนี้ เช่นสหรัฐอเมริกา กลุ่มอียู รวมทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน
สำหรับการตรวจอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15-30 มีนาคม 2554 ตรวจแล้ว 122 ตัวอย่าง ทราบผล 103 ตัวอย่าง ทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีเพียง 1 รายการที่ได้อายัดไว้คือมันเทศ ที่ตรวจพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 (Iodine-131) 15.25 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม แม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม
ส่วนมาตรการเฝ้าระวังการปนเปื้อนรังสีในคนไทยที่เดินทางไปและกลับจากญี่ปุ่น ในส่วนผู้โดยสารขาเข้า ยังคงใช้มาตรการแจกเอกสารคำแนะนำบนเครื่องบินในเที่ยวบินที่มีคนไทยเดินทางกลับมาจากญี่ปุ่น และมีหน่วยให้บริการให้คำปรึกษาเรื่องรังสีที่สนามบินสุวรรณภูมิ และผู้โดยสารขาออกที่เดินทางไปญี่ปุ่นจะมีการแจกเอกสารให้คำแนะนำสำหรับทุกเที่ยวบินที่มีคนไทยเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อให้ทราบแนวทางในการปฏิบัติตน