นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ยืนยันว่าการจ่ายเงิน 5,000 บาทช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจะพยายามดำเนินการจ่ายเงินให้มีความรัดกุมมากขึ้นและเชื่อว่าคงจะไม่มีใครหาผลประโยชน์จากความเดือดร้อนของประชาชนในครั้งนี้
"คณะกรรมการมีประสบการณ์จากภัยพิบัติเมื่อปลายปีที่แล้ว คงจะมีมีความรัดกุมมากขึ้น โดยครั้งนี้จะตรวจสอบจากภาพถ่ายดาวเทียมและจะมีคณะอนุกรรมการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบด้วย ผมไม่คิดว่าใครจะหากินบนความเดือดร้อนของประชาชน" นายสาทิตย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณราว 6 พันล้านบาทเป็นงบที่มีการอนุมัติใหม่ 4,400 ล้านบาท และยังมีงบในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เหลือจากครั้งที่แล้วอีก 1,600 ล้านบาท ซึ่งงบฯ ดังกล่าวยังไม่รวมเงินชดเชยพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหาย และเชื่อว่างบประมาณที่จะช่วยเหลือเกษตรกร คงไม่ถึงหลักหมื่นล้านหรือแสนล้าน
ทางคณะกรรมการฯ ได้มีการสรุปสถานการณ์ขณะนี้ โดยมี 3 จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลาย คือ จ.พังงา จ.สตูล จ.นราธิวาส ส่วนจังหวัดที่อยู่ในขั้นวิกฤตื คือ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช และจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ จ.ชุมพร จ.พัทลุง จ.ตรัง จ.สุราษฎร์ฯ จ.นครศรีธรรมราช
สำหรับความเสียหายขณะนี้ครอบคลุม 82 อำเภอ และการดำเนินการช่วยเหลือในขณะนี้ทาง คชอ.ได้รับทราบการสั่งการจากทางคณะรัฐมนตรีในการบูรณาการทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายราชการ กองทัพ ซึ่งทางคณะกรรมการ จะให้ความสำคัญในการกำหนดจุดอำนวยความสะดวกในพื้นที่ 3 จังหวัด ทั้งหมด 35 จุด ซึ่งมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 4 หมื่นคน พร้อมทั้งมอบให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)จัดตั้งศูนย์ดูแลแม่และเด็ก รวมถึงตั้งจุดรับบริจาคสิ่งของที่มีความจำเป็นสำหรับแม่และเด็กด้วย
ส่วนสาธารณูปโภคอื่นๆ ด้านขนส่งจะมีตัวแทนจากกองทัพจัดส่งกำลังทั้งทางอากาศยาน เรือ รถและกำลังเจ้าหน้าที่ ส่วนกรณีของไฟฟ้า มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 5 หมื่นรายที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนของประปาก็จะเร่งดำเนินการ คาดว่าจะติดตั้งระบบประปาใหม่ได้ไม่เกิน 6 เม.ย.นี้ และในส่วนกระทรวงการคลังขอให้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบว่ามีถนนหรือสะพาน รวมถึงสถานที่ราชการที่ต้องให้บริการกับประชาชนหน่วยงานใดที่ต้องการได้รับการฟื้นฟูเป็นอันดับแรกก็ให้มีการจัดทำมา