ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ขอให้เกษตรกรงดทำนาปรังรอบที่ 2 เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ลดลงอย่างมาก ไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้กับนาปรังรอบที่ 2 ได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังจะต้องสำรองน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อใช้สำหรับการทำนาปีในช่วงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงด้วย เนื่องจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังมีน้ำเหลือใช้ตามแผนฯ อีกเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด(7 เม.ย. 54) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 39,037 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2553 จำนวน 107 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้จำนวนทั้งสิ้น 15,556 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักๆ ที่ต้องส่งน้ำไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,143 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,983 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 307 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 366 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯ
ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงมารวม 23 จังหวัด ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2553/2554 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และชดเชยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 8,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนำมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมกันจำนวน 6,800 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อีกจำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมไปถึงการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีกประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร นั้น
ผลการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(7 เม.ย.) มีการนำน้ำไปใช้แล้ว 7,614 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง
ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(ณ 1 เม.ย.54) พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 6.45 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 123 ของแผนทั้งหมด(แผนกำหนดไว้ 5.26 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 6.38 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 122 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 5.21 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.07 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 140 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 0.05 ล้านไร่)