วิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่าของญี่ปุ่น เริ่มอุบัติขึ้นตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ ตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554 แม้เวลาจะผ่านมาเกือบครบ 1 เดือนเต็มแล้ว สถานการณ์ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ และในทางตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลแผ่ปกคลุมไปทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น คอลัมน์ In Focus ประจำสัปดาห์นี้จึงขอพาผู้อ่านตามติดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าส่งผลกระทบในแง่มุมใดบ้างทั้งต่อญี่ปุ่นและประชาคมโลก
คนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือ กลุ่มคนงานของโรงไฟฟ้า อาสาสมัครดับเพลิง รวมถึงอาสาสมัครอื่นๆ ที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ เนื่องจากทุกคนมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับสารกัมมันตรังสีระดับเข้มข้นจนอาจทำให้เสียชีวิตภายในไม่กี่วัน หรืออาจเข้าไปสะสมในร่างกายและเสียชีวิตในอีกหลายปีต่อจากนี้ พูดง่ายๆว่าพวกเขาเดินเข้าไปหาความตาย แต่พวกเขาก็เต็มใจสละชีวิตของตนเองเพื่อรักษาชีวิตของเพื่อนร่วมชาติและเพื่อนร่วมโลก
คนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งหมดต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตนเอง ต้องไปอาศัยอยู่ตามบ้านญาติหรือสถานพักพิงชั่วคราว ด้วยความหวังลึกๆว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว สมาชิกในครอบครัวจะได้กลับไปอยู่ที่บ้านอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาอาจไม่ได้กลับบ้านอีก เพราะสถานที่รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจมีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนและอันตรายเกินกว่าจะอยู่อาศัยได้อีกต่อไป ดูตัวอย่างได้จากเมืองนามิเอะ ซึ่งไม่ได้เป็นเขตที่ทางการแนะนำให้เก็บตัวอยู่ในบ้านหรืออพยพออกนอกพื้นที่ ก็ยังมีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่ในอากาศในระดับสูงกว่า 10 ไมโครซีเวิร์ต ซึ่งเป็นระดับที่รัฐบาลต้องสั่งให้ผู้คนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ดังนั้นจึงไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าจะปลอดภัย
ความหวาดวิตกในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานเล็กๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ในจังหวัดฟูกุชิม่า ริเริ่มโครงการฉุกเฉินเพื่อตรวจวัดระดับสารกัมมันตรังสีตามสนามของโรงเรียนและเนิร์สเซอรี่กว่า 1,400 แห่งในจังหวัด แม้ทางการญี่ปุ่นจะยืนยันว่าเด็กๆ ไม่น่าจะได้รับอันตรายหากอยู่ห่างจากที่ตั้งโรงไฟฟ้าเกินกว่ารัศมี 30 กิโลเมตร ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกสบายใจแต่อย่างใด
ความวิตกกังวลไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนในฟูกุชิม่าเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากวิตกว่าจะไม่มีไฟฟ้าใช้ในช่วงหน้าร้อนนี้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นมีอากาศร้อนที่สุด เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่าหยุดทำงาน และแม้รัฐบาลจะมีแผนเพิ่มพลังงานไฟฟ้าเป็น 45 ล้านกิโลวัตต์ในช่วงที่อากาศร้อนที่สุด แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 55-60 ล้านกิโลวัตต์
ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น จังหวัดฟูกุชิม่าเป็นเสมือนคลังสินค้าเกษตรที่ป้อนอาหารให้กับเมืองหลวงโตเกียวและหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นด้วยกันเองจำนวนมากไม่ยอมรับสินค้าจากฟูกุชิม่า ขณะเดียวกันหลายประเทศก็สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารทะเลจากหลายจังหวัดของญี่ปุ่น ไม่จำกัดเพียงแค่จังหวัดฟูกุชิม่าเท่านั้น
เมื่อปลายเดือนที่แล้วไต้หวันสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากจังหวัดฟูกุชิม่า อิบารากิ โทชิกิ กุนมะ และจิบะ เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการประกาศเพิ่มเติม ส่วนผลิตภัณฑ์จากจังหวัดอื่นๆของญี่ปุ่นยังสามารถนำเข้าไต้หวันได้หากผ่านการตรวจสอบแล้ว
ด้านเกาหลีใต้สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบางประเภทจากจังหวัดฟูกุชิม่า อิบารากิ โทชิกิ กุนมะ และจิบะเช่นกัน ซึ่งคำสั่งห้ามนำเข้าจะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าสถานการณ์ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่าจะได้รับการแก้ไข
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาสิงคโปร์ก็สั่งระงับการนำเข้าผักและผลไม้จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีในญี่ปุ่นเพิ่มเป็น 11 จังหวัด ซึ่งรวมถึงเขตคันโตทั้งเขต นอกจากนั้นการจัดส่งผักและผลไม้ อาหารทะเล นมและผลิตภัณฑ์นมจากญี่ปุ่น ต้องผ่านการกักกันและตรวจสอบอย่างเข้มงวด และจะได้รับอนุญาตให้นำไปจำหน่ายหลังผลการทดสอบออกมาเป็นลบเท่านั้น
ล่าสุดอินเดียเป็นประเทศแรกที่ออกมาประกาศห้ามนำเข้าอาหารทั้งหมดทุกชนิดจากทุกพื้นที่ในประเทศญี่ปุ่น โดยมีผลอย่างน้อย 3 เดือน หรือจนกว่าจะมั่นใจว่าปริมาณการปนเปื้อนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ นอกจากนั้นประเทศอื่นๆที่นำเข้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตรจากญี่ปุ่นก็ใช้มาตรการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด และพร้อมสั่งห้ามนำเข้าทันทีหากตรวจพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี
อีกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักคืออุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเป็นตลาดยานยนต์แห่งใหญ่ของโลก โดยแผ่นดินไหวและสึนามิที่ถล่มญี่ปุ่นทำให้โรงงานหลายแห่งได้รับความเสียหายจนต้องระงับการดำเนินงาน ขณะเดียวกันวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ทำให้ญี่ปุ่นผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยลงจนอาจเข้าสู่ภาวะขาดแคลน หลายบริษัทจึงต้องระงับการผลิตชั่วคราวเพื่อประหยัดพลังงาน
โดยบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ผู้ผลิตรถสัญชาติสหรัฐ ต้องระงับการผลิตรถที่โรงงานในเมือง Genk ประเทศเบลเยียม เป็นเวลา 5 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน เพื่อประหยัดชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะเดียวกันฟอร์ดยังต้องขอให้ตัวแทนจำหน่ายหยุดรับออเดอร์รถใหม่บางสี เนื่องจากสีที่นำเข้าจากญี่ปุ่นมีจำนวนลดลงหลังเกิดแผ่นดินไหว นอกจากนั้นยังตัดสินใจระงับการผลิตที่โรงงานในรัฐเคนตักกี ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 5 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายนเช่นกัน
ด้านบริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประกาศว่าจะระงับการผลิตบางส่วนในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก เนื่องจากความล่าช้าในการจัดหาชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ โดยจะระงับการผลิตที่โรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์สองแห่งในรัฐเทนเนสซีและมิสซิสซิปปี้เป็นเวลา 6 วัน ในวันที่ 8, 11 และวันที่ 18-21 เมษายนนี้ ขณะที่โรงงานอีกสองแห่งในเม็กซิโกจะระงับการผลิตเป็นเวลา 5 วัน โดยโรงงานแห่งแรกจะระงับการผลิตในวันที่ 4-8 เมษายน และโรงงานอีกแห่งจะระงับการผลิตในวันที่ 11-15 เมษายน
สำหรับบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ได้ปรับลดกำลังการผลิตและระงับการผลิตบางส่วนในอเมริกาเหนือ นอกจากนั้นยังอาจจำเป็นต้องหยุดการผลิตรถยนต์ที่โรงงานในเมืองสวินดอน ประเทศอังกฤษ ในเดือนหน้า เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์ที่สำคัญจากประเทศญี่ปุ่น และเตรียมลดกำลังการผลิตรถยนต์ที่โรงงานทางตอนเหนือของอินเดียตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป เนื่องจากซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์บางรายในญี่ปุ่นยังไม่ได้เริ่มดำเนินงานอย่างเต็มที่
ส่วนค่ายรถยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ได้ระงับการผลิตนอกเวลาทำการและการผลิตในช่วงวันเสาร์ที่โรงงานในอเมริกาเหนือ แต่ยังคงดำเนินการผลิตในช่วงเวลางานปกติอย่างต่อเนื่องโดยใช้ชิ้นส่วนที่มีอยู่ แต่ล่าสุดโตโยต้าเปิดเผยว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากว่าบริษัทจะต้องระงับการผลิตรถยนต์ที่โรงงานทั้งหมด 14 แห่งในอเมริกาเหนือในช่วงปลายเดือนนี้ แต่ยังไม่ตัดสินใจเรื่องการกำหนดขนาดและระยะของการระงับการผลิต
บริษัทขนส่งสินค้าทางเรือหลายแห่งทั่วโลกเริ่มขึ้นค่าขนส่งสินค้าไป-กลับท่าเรือญี่ปุ่น และบางส่วนหาทางบอกเลิกสัญญาขนส่งสินค้าไปยังญี่ปุ่น เนื่องจากเกรงว่าสารกัมมันตรังสีในญี่ปุ่นอาจปนเปื้อนมากับเรือขนส่งสินค้า ประเทศที่อยู่ห่างไกลญี่ปุ่นออกไปมากอาจหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ด้วยวิธีการดังกล่าว แต่สำหรับประเทศที่อยู่ไม่ห่างไกลนักคงไม่เป็นผล เนื่องจากสารกัมมันตรังสีได้แพร่กระจายในอากาศล่องลอยไปถึงหลายประเทศแล้ว โดยเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ได้มีการตรวจพบสารกัมมันตรังสีในชั้นบรรยากาศเหนือรัฐเซาท์แคโรไลนา นอร์ทแคโรไลนา ฟลอริดา เนวาดา แคลิฟอร์เนีย แมสซาชูเซตส์ รวมถึงฮาวาย ของสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นจีนยังคงตรวจพบสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 ระดับต่ำในอากาศเหนือมณฑลเฮยหลงเจียงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อปลายเดือนที่แล้ว แม้จะมีการยืนยันว่าสารกัมมันตรังสีอยู่ในระดับต่ำทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน แต่ข่าวดังกล่าวก็ทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างหวาดผวาต่อภัยที่มองไม่เห็น
ยิ่งกว่านั้นในวันที่ 4 เมษายน บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโก) ก็ได้ประกาศข่าวที่ทำให้ทั่วโลกหวั่นวิตกถึงขีดสุดว่า บริษัทจะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากน้ำที่ขังอยู่ในส่วนต่างๆของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงน้ำที่ขังอยู่บริเวณใกล้แกนกลางของเตาปฏิกรณ์นั้น เป็นอุปสรรคที่ทำให้พนักงานของเทปโกไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในวันที่ 5 เมษายน เจ้าหน้าที่ของเทปโกก็ได้สูบน้ำกว่า 11,500 ตันที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมากกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด 100 เท่า ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับรองรับน้ำปนเปื้อนที่อาจไหลออกมาอีก ซึ่งนายยูคิโอะ เอดาโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่าการกระทำนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่นายบันริ ไคเอดะ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่ทำเช่นนี้ พร้อมกันนั้นยังกล่าวขอโทษต่อประชาชนด้วย
แม้ว่าล่าสุด เทปโก ได้หยุดการระบายน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 6 เมษายน และได้ฉีดสารเคมี "water glass" หรือโซเดียม ซิลิเคท ในปริมาณ 1,500 ลิตร เพื่อปิดช่องระบายน้ำริมชายฝั่ง ขณะที่สำนักงานความปลอดภัยอุตสาหกรรมและนิวเคลียร์ ยืนยันว่าน้ำปนเปื้อนดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่ประชาชนทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกก็ยังรู้สึกกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างเกาหลีใต้ ที่ออกมาแสดงความวิตกและไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการกระทำของญี่ปุ่น พร้อมกันนั้นสถานทูตเกาหลีใต้ในกรุงโตเกียวได้ขอให้ญี่ปุ่นดำเนินมาตรการยับยั้งผลกระทบจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีในน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้านด้วย
แม้ญี่ปุ่นจะอ้างว่าการระบายน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลไม่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และญี่ปุ่นจำเป็นต้องทำเพื่อให้การแก้ปัญหาในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หลายฝ่ายก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เรื่องแบบนี้ควรตั้งอยู่บนหลักของกฎหมาย หรือหลักของจริยธรรมกันแน่
วิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่าในญี่ปุ่น ถ้าเปรียบเสมือนอาการป่วยของคนก็คงต้องบอกว่า 3 วันดี 4 วันไข้ และยังไม่มีวี่แววว่าจะหายขาดในเร็ววันนี้ โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่นี้จะจบลงเช่นไร เราคงต้องดูกันต่อไปอีกยาว