อย.ตรวจพบผักปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในผัก 2 ชนิดที่นำเข้าโดยชาวญี่ปุ่น

ข่าวทั่วไป Thursday April 7, 2011 19:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า พบผัก 2 ตัวอย่าง ที่ชาวญี่ปุ่นหิ้วเข้ามาเพื่อบริโภคเองในผักฮานาวาซาบิ (Hanawasabi) และผักมิซูบะ (Mi Tsu Ba) มีสารปนเปื้อนทั้ง 3 ชนิด โดยผักฮานาวาซาบิ พบ ไอโอดีน-131 ปริมาณ 33.18, ซีเซียม-134 ปริมาณ 12.95 และ ซีเซียม-137 ปริมาณ 12.97 ขณะที่ผักมิซูบะ พบไอโอดีน-131 ปริมาณ 83.35 ซีเซียม-134 ปริมาณ 44.70 และซีเซียม-137 ปริมาณ 51.10

ทั้งนี้ อย.ได้กำหนดมาตรการคุมเข้มผักผลไม้ที่มีต้นกำเนิดหรือส่งผ่านจาก 12 จังหวัด ได้แก่ ฟุกุชิมะ, กุนมะ, อิบารากิ, โตชิกิ, มิยากิ, ยามากาตะ, นิอิกาตะ, นากาโนะ, ยามานาชิ, ไชตามะ, โตเกียว และชิบะ ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องมีการแสดงผลวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำความตกลงไว้กับสหภาพยุโรป (EU)

นอกจากนี้ ผู้นำเข้าอาหารต้องจัดให้มีหลักฐานระบุระดับปริมาณกัมมันตรังสีและพื้นที่ที่ผลิตอาหารจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศที่เป็นแหล่งต้นกำเนิด หรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศที่เป็นแหล่งต้นกำเนิด หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐานสากล แสดงที่ด่านนำเข้าทุกครั้งที่นำเข้า

เลขาธิการ อย.กล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการอาหารวันนี้ ยังได้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง "มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี" โดยมีมติกำหนดให้ปริมาณไอโอดีน-131 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (Bq/kg) หรือ เบคเคอเรลต่อลิตร (Bq/l), ซีเซียม-134 (Cs-134) และซีเซียม-137 (Cs-137) รวมกันไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (Bq/kg) หรือ เบคเคอเรลต่อลิตร (Bq/l) ซึ่งจะเสนอรัฐมนตรีลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ