ศปถ. เผยวันแรกของการรณรงค์สงกรานต์ 54 มีผู้เสียชีวิต 29 เจ็บ 400 คน

ข่าวทั่วไป Tuesday April 12, 2011 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100%" เกิดอุบัติเหตุ 365 ครั้ง ลดลงจากปี 2553 (557 ครั้ง) 192 ครั้ง ร้อยละ 34.47 ผู้เสียชีวิต 29 คน ลดลงจากปี 2553 (45 คน) 16 คน ร้อยละ 35.56 ผู้บาดเจ็บ 400 คน ลดลงจากปี 2553 (607 คน) 207 คน ร้อยละ 34.10

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 30.14 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.24 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 55.07 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 36.99 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.42 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 — 20.00 น. ร้อยละ 29.86 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานร้อยละ 49.18

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 22 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ เชียงราย 20 ครั้ง และสุรินทร์ 18 ครั้ง

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 3 ราย

จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 22 ราย

จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุและไม่มีผู้บาดเจ็บ มี 9 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ตราด ปทุมธานี ยโสธร สุโขทัย หนองคาย อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 58 จังหวัด

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,507 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 67,779 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 601,211 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 69,740 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด 22,581 ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 21,987 ราย

นายถาวร คาดว่าวันนี้ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นจำนวนเนื่องจากเป็นวันสุดท้ายของการทำงาน ส่งผลให้มีปริมาณรถบนถนนสายหลักหนาแน่น จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ.ได้กำชับจังหวัดที่มีเส้นทางสายหลักประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงและตำรวจท้องที่บริหารจัดการสภาพการจราจร โดยจัดให้มีช่องทางจราจรพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง

ทั้งนี้ คาดว่าในวันนี้จะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเป็นจำนวนมาก จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามจุดตรวจต่างๆ เข้มงวดรถโดยสารสาธารณะในช่วงขาออกจากกรุงเทพฯ ที่มีระยะทางเกิน 400 กิโลเมตรเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการตรวจสารเสพติดและสุราของพนักงานขับรถจากจุดตรวจของกรมการขนส่งทางบก

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้จังหวัดตรวจสอบและวิเคราะห์อุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11 — 17 เมษายน 2554) กรณีผู้ประสบเหตุ อายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีสาเหตุจากการเมาแล้วขับ โดยให้สอบสวนเอาผิดกับร้านค้าและสถานประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับพื้นที่ภาคใต้แม้จะสามารถเปิดการจราจรได้ทุกเส้นทางแล้ว แต่ถนนหลายสายยังอยู่ในสภาพชำรุด ขอให้เจ้าหน้าที่ติดตั้งป้ายเตือนหรือสัญญาณเตือน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้เส้นทางดังกล่าวเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ