In Focusวิถีซามูไรในห้วงวิกฤต ความหวัง น้ำใจ สปิริต สู่ภารกิจฟื้นฟูแดนอาทิตย์อุทัย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 12, 2011 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ณ เวลา 14:46 น. ของวานนี้ (11 เมษายน) ประชาชนทั่วแดนอาทิตย์อุทัยตกอยู่ภายใต้ความเงียบสงัดด้วยการยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมทางธรรมชาติในโอกาสครบรอบ 1 เดือนของเหตุแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์และสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา

ผลพวงจากภัยธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยังคงปรากฏให้เห็นและเป็นที่รับทราบกันอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยล่าสุดเมื่อเวลา 08:08 น.ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงโตเกียววันนี้ (12 เมษายน) ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 6.3 ริกเตอร์ที่เขตชิบะของญี่ปุ่นอีกครั้ง ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจยกระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดอิจิ ขึ้นสูงสุดที่ระดับ 7 ตามมาตรวัดสากล จากเดิมในระดับ 5 ซึ่งจะเทียบเท่ากับระดับความรุนแรงในวิกฤตโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อปี 2529

ทว่า ท่ามกลางความโหดร้ายทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นและผลพวงที่ลุกลามสร้างความเสียหายไปยังภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตามที่สื่อทั้งในและต่างประเทศพร้อมใจกันรายงานนั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ประชาคมโลกชื่นชมและให้ความสนใจ นั่นคือ วิถีชีวิตของชาวแดนปลาดิบและภารกิจในการฟื้นฟูประเทศของรัฐบาล

ที่ผ่านมา In Focus เคยนำเสนอเรื่องราวของเหตุการณ์แผ่นดินไหว สึนามิ และวิกฤตนิวเคลียร์ รวมถึงผลพวงของวิกฤตการณ์นี้ที่มีผลต่ออนาคตของญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ ตลอดจนวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกุชิม่ามาแล้ว ในวันนี้เราขอเปลี่ยนบรรยากาศมานำเสนอในอีกแง่มุมหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางหายนะครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

ต้นสนแห่ง "ความหวัง"

ณ เมืองริคุเซนทากาตะ ในจังหวัดอิวาเตะ หนึ่งในพื้นที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยังมีสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นมองว่าเป็นความหวังของพวกเขา นั่นคือ ต้นสนอายุร้อยปีต้นหนึ่งที่รอดชีวิตมาได้ราวกับปาฏิหาริย์และยังคงชูยอดสูงตระหง่านท่ามกลางเศษซากปรักหักพักของอาคารบ้านเรือนที่ยับเยินจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งพรากชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 14,377 ราย (ตัวเลขผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 11 เมษายน) ในขณะที่ประชากรป่าสนกว่า 70,000 ต้นที่เคยทำหน้าที่ปกปักรักษาเมืองริคุเซนทากาตะจากคลื่นลมทะเลมานานกว่า 300 ปีในบริเวณนี้ต่างล้มหายตายจากเพราะถูกคลื่นยักษ์สึนามิกำราบชนิดถอนรากถอนโคนไปหมดทั้งแถบ

เอริ คามาอิชิ สตรีท้องถิ่นวัย 23 ปี กล่าวถึงต้นสนแห่งความหวังต้นนี้ว่า "มันเป็นเพียงต้นสนต้นเดียวที่ไม่ได้รับความเสียหาย มันจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูของเรา" เช่นเดียวกับยาซูโอะ มูรากามิ ชาวบ้านวัย 69 ปีที่สูญเสียทั้งภรรยาและบุตรสาวไปจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เขามีความหวังว่า "ต้นสนต้นเดียวที่เหลืออยู่นี้จะเป็นแรงกระตุ้นและเยียวยาดวงใจอันบอบช้ำของผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในภัยพิบัติครั้งล่าสุด"

แม้เรื่องราวที่ปรากฏนี้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า "ความหวัง" ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านสัญลักษณ์ของต้นสน ทว่าสิ่งเล็กๆ เช่นนี้กลับยิ่งใหญ่และทรงพลังในความรู้สึกของชาวญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดแห่งการใช้พลังความสามารถและความพยายามมากที่สุดเท่าที่มนุษย์แต่ละคนจะทำได้เพื่อฟื้นฟูประเทศให้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไป เหมือนกับที่พวกเขาเคยทำสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มาแล้วในวิกฤตการณ์ครั้งก่อนๆ

น้ำดื่มขาดแคลน แต่ไม่แล้ง "น้ำใจ"

ในขณะที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นเองและประชาชนในประเทศใกล้เคียงต่างพากันวิตกกังวลต่อเรื่องการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในน้ำดื่มที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟูกุชิม่า จนทำให้หลายชีวิตตกอยู่ภายใต้ภาวะที่ปราศจากอาหาร น้ำดื่ม อีกทั้งยังต้องดำรงชีวิตท่ามกลางความมืดมิดและหนาวเหน็บเนื่องจากขาดแคลนกระแสไฟฟ้า

ภาพการให้ความช่วยเหลือที่ทั่วโลกเห็นจนชินตา คือ ธารน้ำใจที่หลั่งไหลจากทั่วทุกสารทิศ ผ่านการจัดส่งปัจจัยบรรเทาทุกข์เพื่อผู้ประสบภัยทั้งในรูปแบบของกำลังกาย กำลังทรัพย์ และกำลังใจ

ทว่าในอีกมุมหนึ่งยังมี "น้ำใจ" ของกลุ่มคนที่แสดงออกตามการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยภายใต้รูปแบบของ "เคว้กบุ๊ก" (Quakebook) (http://www.quakebook.org/)

สำนักข่าวเกียวโดรายงานเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เคว้กบุ๊กคือผลิตผลของอดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชาวอังกฤษ วัย 40 ปีที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชิบะ ด้วยจุดเริ่มต้นจากการทวีตข้อความแรกที่เขาต้องการรวบรวมประสบการณ์แผ่นดินไหวโดยมีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่การตีพิมพ์เป็นผลงานเพื่อบริจาครายได้ทั้งหมดแก่สภากาชาดญี่ปุ่น

หนึ่งในบทความจากเว็บบล็อกที่ตัดตอนมาจากหัวข้อ "Care" เป็นของยูกิ วาตานาเบะ หญิงชาวฟูกุชิม่าผู้นี้ตัดพ้อถึงโชคชะตาของเธอไว้อย่างน่าเห็นใจว่า "พ่อกับแม่มีบ้านอยู่ในรัศมี 40 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และพวกเขาได้รับการแจ้งว่าให้อยู่แต่ภายในบ้าน แม้บ้านจะไม่รับความเสียหายมากเหมือนกับที่อื่นๆ แต่เรายังต้องเจอกับสารกัมมันตรังสีที่นับวันยิ่งมีแต่ข่าวที่ออกมาในแง่ร้าย พวกเราทำกรรมอะไรไว้หรือ ถึงต้องพบกับอันตรายที่มองไม่เห็น โปรดอย่าทอดทิ้งฟูกุชิม่า และโปรดรับรู้ด้วยว่าชาวฟูกุชิม่าจะพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด"

แดน คาสเทลลาโน ชาวต่างชาติผู้หนึ่งที่อยู่ในกรุงโตเกียวมานานถึง 15 ปี ถ่ายทอดความรู้สึกจากแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นในหัวข้อ "Want" ว่า การตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจาก เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดในชีวิต ญี่ปุ่นเป็นบ้านหลังที่สองของเขา เขาจะไม่ทิ้งบ้านหลังนี้ไว้ตามลำพัง เพราะนี่คือที่ที่เขาปรารถนาจะอยู่ต่อไป

"เคว้กบุ๊ก 2:46 อาฟเตอร์ช็อก เรื่องเล่าจากแผ่นดินไหวญี่ปุ่น" (Quakebook 2:46 Aftershocks : Stories from the Japan Earthquake) เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนพลังของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่หลอมรวมผู้คนทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการระบายความหวาดกลัวที่ซับซ้อนสับสน แต่อย่างน้อยที่นี่เป็นพื้นที่ระบายและแบ่งเบาความทุกข์โศกที่ชาวญี่ปุ่นเก็บงำเอาไว้ภายใต้สีหน้าเรียบเฉย ขณะที่ผู้อ่านจะได้สัมผัสถึงความหวังและการมองโลกในแง่ดีผ่านตัวอักษรเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ไม่ว่าการแสดงออกของน้ำใจจะปรากฏออกมาในรูปแบบใด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ท่ามกลางภาวะขาดแคลนน้ำดื่มและอาหาร น้ำใจ คือสิ่งที่ช่วยดับกระหายคลายความหิวโหย ท่ามกลางความหนาวเหน็บของหิมะโปรย น้ำใจ คือผ้าห่มให้ความอบอุ่นที่ชาวญี่ปุ่นโหยหา ท่ามกลางภาวะขาดแคลนกระแสไฟฟ้า น้ำใจ คือแสงสว่างเจิดจ้าท่ามกลางความมืดมิดยามอาทิตย์อัสดง

"สปิริต" อาจไม่เห็นได้ด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจ

นอกจาก สปิริตที่น่าชื่นชมของผู้นำแดนปลาดิบในการเสนอแผนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลดเงินเดือนคนละประมาณ 3 ล้านเยน หรือรวมกันราว 2 พันล้านเยน เพื่อนำเงินไปฟื้นฟูพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิแล้ว ยังมีมุมมืดในสังคมอีกแห่งที่แสงสปิริตสาดส่องออกมา นั่นคือ สปิริตของเหล่ายากุซ่าที่ให้ความช่วยเหลือประเทศชาติและสังคมแบบ "ไม่ประสงค์ออกนาม"

เว็บไซต์ Business Insider ได้หยิบยกเอาเรื่องราวของพวกเขามาเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รับรู้ผ่านรายงาน ณ วันที่ 18 มีนาคมว่า กลุ่มยากุซ่า ยามากุจิกุมิ ซึ่งเป็นเครือข่ายมาเฟียรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และสุมิโยชิไค กลุ่มมาเฟียอันดับสองของญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือกับชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศและเปิดสำนักงานทั่วญี่ปุ่นให้พวกเขาได้เข้าไปพักได้ พร้อมทั้งส่งสิ่งของออกไปบริจาคเป็นจำนวนมาก ส่วนกลุ่มยากุซ่า อินากาวะไค ซึ่งเป็นกลุ่มมาเฟียที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่นเริ่มปฏิบัติลับในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยการส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ไฟฉาย แบตเตอรี่ ไปที่เขตโทโฮคุด้วยเช่นกัน

หนึ่งในสปิริตอันแรงกล้าที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ "กลุ่มฟุกูชิม่า 50" วีรบุรุษนิรนามแห่งโรงไฟฟ้าผู้เปี่ยมด้วยเลือดบูชิโดที่มีอยู่ในตัวอย่างเข้มข้น ในฐานะคนงานอาสาผู้ปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตายเพื่อกอบกู้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "ซามูไรในศตวรรษที่ 21" ที่สามารถสละชีพด้วยถือคติให้ตัวเองยอมตายเพื่อหลายคนตื่น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลักฐานที่ทำให้ทั่วโลกได้ประจักษ์แจ้งว่า โศกนาฏกรรมทางธรรมชาติทำลายได้แค่ทรัพย์สินและสิ่งก่อสร้าง แต่ไม่อาจทำลาย "สปิริต" ของชาวญี่ปุ่นที่มีวิถีซามูไรฝังลึกอยู่ในสายเลือด

"ภารกิจ" ฟื้นฟูแดนซากุระ

สิ่งสำคัญภายหลังการเผชิญวิกฤต คือ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่ง แต่ญี่ปุ่นกลับต้องพบกับความท้าทายใหญ่หลวงในการเยียวยาประเทศ หลังจากที่วันนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นลงสู่ระดับ 1.4% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.6% ท่ามกลางความกังวลที่ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อเดือนที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่นต่างร่วมแรงร่วมใจใช้มาตรการเท่าที่พอจะทำได้ อาทิ ลดการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศลง 25% และเตรียมพร้อมรับมือกับช่วงฤดูร้อนที่มักจะมีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าช่วงฤดูกาลอื่นๆ

ขณะที่เมื่อวานนี้ นายยูคิโอะ เอดาโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ออกมาเตือนให้ประชาชนใน 4 ชุมชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้อพยพออกจากพื้นที่ภายใน 1 เดือน แม้นี่จะไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉิน และประชาชนไม่จำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่ในทันที แต่ได้มีการตรวจพบกัมมันตภาพรังสีในระดับสูงในบางพื้นที่ ซึ่งทางการเกรงว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นใช้มาตรการฟื้นฟูประเทศด้วยยาวิเศษที่มีชื่อว่า "กีฬา" โดยคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่นได้แสดงเจตจำนงค์ว่า ต้องการให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 เพื่อปลุกแรงบันดาลใจให้กับชาวญี่ปุ่นและกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวมีความหวังที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆ รวมถึงสร้างความมั่นใจในคุณค่าของกีฬาที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกเข้มแข็ง อันจะกลายเป็นแรงผลักดันในการเร่งฟื้นฟูบูรณะประเทศต่อไป

"ขอบคุณ" สำหรับน้ำใจ "ขอโทษ" สำหรับหายนะ
          เมื่อวานนี้ สำนักข่าวเกียวโดรายงานข้อความแสดงความขอบคุณจากนายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น สำหรับน้ำใจในการมอบความช่วยเหลือของประชาคมโลก จากแถลงการณ์ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษฉบับสมบูรณ์ที่          http://www.kantei.go.jp/foreign/kan/statement/201104/11kizuna_e.html

"ขอบคุณสำหรับคิซุนะ (สายใยแห่งมิตรภาพ)" ข้อความนี้คือสาสน์จากผู้นำญี่ปุ่น ที่พาดหัวอยู่บนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในประเทศต่างๆ อาทิ ไชน่า พีเพิ่ล เดลี่, วอลล์สตรีท เจอร์นัล, ไฟแนนเชียล ไทม์ส และอินเตอร์เนชั่นแนล เฮอรัลด์ ทริบูน

"ผ้าห่มทุกผืนและถ้วยซุปทุกใบได้ทำให้เกิดความอบอุ่นและต้านทานความหนาวเย็นและอ่อนล้าให้กับผู้สูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง เราซาบซึ้งต่อคิซุนะ หรือ สายใยแห่งมิตรภาพจากทั่วโลก และผมขอขอบคุณทุกประเทศ ทุกบุคคลจากก้นบึ้งของหัวใจ การฟื้นฟูได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ด้วยความพยายามของเราเองและความช่วยเหลือของประชาคมโลก ญี่ปุ่นจะฟื้นตัวและกลับมาแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม..."

ขณะเดียวกันบรรษัทกระจายเสียงของญี่ปุ่น (NHK) รายงานว่า นายมาซาทากะ ชิมิซุ ประธานบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโก) ได้เดินทางไปยังจังหวัดฟูกุชิม่า พร้อมกล่าวขออภัยที่บริษัทเป็นต้นตอของวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ หลังจากที่ ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้ออกมาแสดงความเสียใจหลังจากที่มีการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงมหาสมุทรแปซิฟิกจนทำให้หลายประเทศไม่พอใจ

หนึ่งเดือนที่ผ่านมา อาจไม่เพียงพอสำหรับการเยียวยาบาดแผลและฝันร้ายของชาวซามูไร ทว่าอย่างน้อยนี่เป็นระยะเวลาที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความหวัง น้ำใจ วินัย และสปิริต ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ทำให้หลายคนเชื่อว่า แม้เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในปีนี้จะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล แต่ญี่ปุ่นจะสามารถฟื้นตัวได้ใหม่ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติผู้เป็น "ทรัพยากรที่สำคัญที่สุด" ในการฟื้นฟูประเทศให้กลับมาเป็นดินแดนที่งดงามอีกครั้ง ดังเช่นดวงตะวันที่ลาลับขอบฟ้า เพื่อจะกลับมาทอแสงแห่งอรุณรุ่งของวันใหม่

สู้ต่อไปนะ...กัมบัตเตะเนะ...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ